เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6476
วันที่: 2 สิงหาคม 2549
เรื่อง:        การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการซ่อมรถยกสินค้า
ข้อกฎหมาย:       มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:       การประกอบกิจการให้บริการซ่อมรถยกสินค้าและขายอะไหล่รถยกสินค้า ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

       1. กรณีการให้บริการซ่อมรถยกสินค้าโดยมีค่าบริการค่าแรงจำนวน 500 บาท ค่าอะไหล่จำนวน 1,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 105 บาท รวมจำนวน 1,605 บาท ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่ จ่าย หรือไม่ อย่างไร

       2. กรณีการให้บริการตรวจสภาพรถยกสินค้าโดยมีค่าอะไหล่จำนวน 1,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 70 บาท รวมจำนวน 1,070 บาท โดยไม่คิดค่าบริการแรงงาน ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากมูลค่าการให้บริการแรงงาน หรือไม

แนววินิจฉัย

:       การให้บริการซ่อมรถยกสินค้าและการให้บริการตรวจสภาพรถยกสินค้าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญารับจ้างทำของซึ่งมุ่งผลสำเร็จของงานโดยไม่สามารถแยกค่าอะไหล่กับค่าแรงงานออกจากกัน ดังนั้น หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่ จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528

เลขตู้:69/34395

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020