เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6506
วันที่: 2 สิงหาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการประกอบกิจการรับส่งเอกสาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) และมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ       ห้างฯ ประกอบกิจการขนส่งเอกสาร พัสดุภัณฑ์ สินค้า และสิ่งของด้วยรถจักรยานยนต์ ตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างอาจเรียกใช้เป็นครั้งคราว หรือเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ในการคำนวณเรียกเก็บค่าขนส่ง ห้างฯ จะคำนวณจากระยะทางใกล้หรือไกล และหรือน้ำหนักของเอกสารหรือสิ่งของที่ต้องขนส่ง โดยจะตกลงกันเป็นคราวๆ ไปเมื่อดำเนินการขนส่งเสร็จ ห้างฯ จะได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดหรือเช็คจากผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้ ห้างฯ ประกอบกิจการดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวโดยมิได้ประกอบกิจการอื่น และมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ห้างฯ จึงขอทราบว่า
       1. การประกอบกิจการดังกล่าวของห้างฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
       2. หากกิจการดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร และห้างฯ ควรดำเนินการอย่างไร
       3. ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างที่จ่ายในอัตราใด
แนววินิจฉัย       กรณีการประกอบกิจการขนส่งเอกสาร พัสดุภัณฑ์ สินค้า และสิ่งของด้วยรถจักรยานยนต์ ตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างอาจเรียกใช้เป็นครั้งคราว หรือเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และในการคำนวณเรียกเก็บค่าขนส่ง ห้างฯ จะคำนวณจากระยะทางใกล้หรือไกล และหรือน้ำหนักของเอกสารหรือสิ่งของที่ต้องขนส่ง โดยจะตกลงกันเป็นคราวๆ ไป ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด และเงินได้จากการประกอบกิจการขนส่ง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้:69/34404

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020