เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8299
วันที่: 4 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเลิกประกอบกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77 มาตรา 85/15 มาตรา 90(8) มาตรา 90/1(5) มาตรา 83 มาตรา 85/19(2) มาตรา 86 มาตรา 82/3 มาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 79/3(5) มาตรา 87 และมาตรา 81/3(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      ห้างฯ ประกอบกิจการตัดเย็บ จำหน่ายชุดดำน้ำ และอุปกรณ์ดำน้ำ ห้างฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ต่อมาในวันที ่ 29 สิงหาคม 2548 ต่อมาห้างฯ ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อที่จะประกอบ กิจการในรูปแบบของบริษัท แต่ไม่ได้ดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ห้างฯ ยังคงประกอบกิจการเป็นปกติ มีการออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ห้างฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท อ. และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในวันที่ 2 มีนาคม 2549 ห้างฯ จึงขอทราบว่า
       1. ห้างฯ ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 และ ได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด 50 ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ไว้แล้ว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2548 จนถึงวันที่ชำระ บัญชีเสร็จ ถ้าระยะเวลาการชำระบัญชีเกินกว่า 12 เดือน ห้างฯ ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 อย่างไร
       2. กรณีห้างฯ ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 09 ห้างฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีหรือไม่ และผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจากห้างฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ห้างฯ เรียกเก็บไปหักออกจากภาษีขายได้หรือไม่
       3. ห้างฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าคงเหลือให้กับบริษัท อ.หรือไม่ และบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าคงเหลือดังกล่าวไปเครดิตภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:       1. กรณีเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนได้รับจดทะเบียนเกี่ยวกับการเลิกห้างฯ แล้ว ผู้ชำระบัญชี มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบถึงการเลิกห้างฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับ จดทะเบียนเลิกและให้ถือวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีตามข้อเท็จจริง ห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไว้แล้ว แต่การชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้น ให้ถือว่า ห้างฯ ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ตามมาตรา 1249 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ห้างฯ จึงยังมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ แบบ ภ.ง.ด.51 พร้อมงบการเงินต่อไป จนกว่าจะได้จดทะเบียนการชำระบัญชีเสร็จ โดยมีรอบระยะ เวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก)
        3. กรณีห้างฯ แจ้งเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ห้างฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลง ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.09) พร้อมคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานที่ที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 85/15 แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่ห้างฯ มิได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 และยังคงประกอบกิจการ ออกใบกำกับภาษี ยื่นแบบ ภ.พ. 30 พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ห้างฯ จึงมีความผิดกรณีที่ไม่แจ้ง เลิกประกอบกิจการและคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 90(8) และมาตรา 90/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อห้างฯ ยื่นแบบ ภ.พ. 09 แล้ว ห้างฯ ยังคงรับผิดในฐานะ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไป โดยยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม จนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ห้างฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 83 มาตรา 85/19(2) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่แจ้งเลิกประกอบ กิจการเป็นต้นไป อีกทั้งไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปในระหว่างวันที่แจ้งเลิกประกอบกิจการ ถึงวันที่อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาถือเป็นภาษีซื้อ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
        4. ห้างฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ห้างฯ มีไว้ใน การประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ แจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) และมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลค่า ของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ และไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่ประการใด ส่วนรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ ไม่มีหน้าที่จัดทำอีกต่อไป แต่ต้องเก็บและรักษารายงาน ที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีก 2 ปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/3(5) มาตรา 87 และมาตรา 87/3(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34548

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020