เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./8625
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง:        ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการก่อสร้างอาคารและโรงงานในเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย:       มาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:       บริษัท A เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบริษัท A ได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ประกอบกิจการผลิตเครื่องจักร เครื่องกล ในการดำเนินการตามบัตรส่งเสริม บริษัท A เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารและโรงงานในเขตปลอดอากรโดยทำสัญญาว่าจ้างผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างโรงงานตามแบบที่ได้รับอนุมัติ โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง และสำหรับวัสดุก่อสร้างในส่วนที่บริษัท A สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า บริษัท A มีสิทธิในการจัดหาวัสดุก่อสร้างเองบริษัทฯ หารือว่า
:       1. วัสดุก่อสร้างที่ผู้รับเหมาได้นำเข้ามาในเขตปลอดอากร ซึ่งได้ดำเนินพิธีการ ศุลกากรจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่
:       2. ค่าแรงงานเหมาในการก่อสร้าง ค่าบริการรับเหมาก่อสร้าง ในการก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากร จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่
:       3. ภาษีซื้อในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง สำหรับกรณีนี้เป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

แนววินิจฉัย

:       1. กรณีผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้นำวัสดุก่อสร้างเฉพาะที่ต้องเสียอากรขาออก หรือได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เข้าไปในเขตปลอดอากร โดยการนำเข้าได้ดำเนินการตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 125)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรและการขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บน ประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามมาตรา 77/1(14)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2545 การนำวัสดุก่อสร้างเข้าไปในเขตปลอดอากรดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการส่งออก ผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ทั้งนี้ ตามมาตรา77/1(14)(ก) และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
:       2. กรณีบริษัท A ทำสัญญาว่าจ้างผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากร การรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0จากค่าจ้างรวมทั้งค่าวัสดุก่อสร้างที่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างเรียกเก็บจากบริษัท A ผู้ว่าจ้างตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 79 มาตรา 80 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท A ผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ การให้บริการรับเหมาก่อสร้างในเขตปลอดอากรดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกและไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกแต่อย่างใด ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2543
:       3. ภาษีซื้อที่ผู้รับเหมาก่อสร้างได้จ่ายไปในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

เลขตู้:69/34579

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020