เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8401
วันที่: 6 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าซ่อมเครื่องจักรและ ค่าที่ปรึกษาไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2) มาตรา 41 มาตรา 50(1) และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ข้อหารือ:      บริษัทฯ ขอทราบเกี่ยวกับภาระภาษีจากการประกอบกิจการ ดังนี้
       1. บริษัทฯ ประกอบกิจการนำเข้า และเป็นตัวแทน นายหน้า เพื่อนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันหล่อลื่น น้ำยาเคมี และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้จ้าง Service Engineer จากบริษัท K ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและไม่มีสถานประกอบการถาวรใน ประเทศไทย ให้เข้ามาซ่อมเครื่องจักรให้กับลูกค้าของบริษัทฯ โดยเครื่องจักรดังกล่าวเป็นสินค้าที่ผลิต โดยบริษัท K ซึ่งจะใช้เวลาในการซ่อมประมาณ 5 วัน บริษัทฯ จะจ่ายเงินค่าซ่อมให้บริษัท K โดยว ิธีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ประเทศญี่ปุ่น การจ่ายเงินค่าซ่อมเครื่องจักรดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีตาม อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยง การรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ หรือไม่
       2. บริษัทฯ ได้จ้างที่ปรึกษาด้านการตลาดและการวางแผนการขาย ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นและอาศัยอยู่ ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะเข้ามาให้บริการในประเทศไทยปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4-5 วัน บริษัทฯ จะจ่ายเงิน ค่าที่ปรึกษาโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ประเทศญี่ปุ่นในนามบุคคลธรรมดาทุกๆ เดือน และบริษัทฯ ได้หักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่จ่าย เงินค่าที่ปรึกษาดังกล่าวได้รับการ ยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น หรือไม่
แนววินิจฉัย:       1. กรณีบริษัท K เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ส่งพนักงานเข้ามาซ่อมเครื่องจักร ในราชอาณาจักร ใช้เวลาประมาณ 5 วัน กรณีดังกล่าว ถือได้ว่า บริษัท K ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีลูกจ้างในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินได้ดังกล่าว เข้าลักษณะ เป็นกำไรธุรกิจ ตาม ข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศ ญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจาก เงินได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่า บริษัท K มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น บริษัท K จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามอนุสัญญาฯ ประกอบกับ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าซ่อมเครื่องจักรดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด
       2. กรณีบริษัทฯ จ้างที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น เพื่อให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการวางแผนการขาย ซึ่งจะเข้ามาในประเทศไทยปีละ 2 ครั้ง และอยู่ในประเทศไทยครั้งละ 4-5 วัน โดยที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น มิได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัท เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นบริการส่วนบุคคล ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากค่าตอบแทนที่จ่ายนั้นตกเป็นภาระแก่บริษัทฯ จึงไม่ได้ รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 14 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้น การเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนจึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามมาตรา 50(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34554

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020