เลขที่หนังสือ | : กค 0706/8822 |
วันที่ | : 24 ตุลาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีให้บริการรับจ้างขนส่งโดยใช้รถยนต์ที่มีห้องควบคุมอุณหภูมิในการขนส่ง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าประเภทอาหารสดและเครื่องดื่มที่ต้องเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ไส้กรอก แฮม และนมสด เป็นต้น โดยบริษัทฯ นำรถยนต์ของบริษัทฯ ซึ่งติดตั้งเครื่องทำความเย็นในตู้บรรทุกสินค้าจะต้องควบคุมอุณหภูมิคงที่ ตั้งแต่ 0 ถึง 18 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ในการบันทึกอุณหภูมิและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันความเสียหายของผลิตภัณฑ์สินค้าระหว่างการขนส่งเพื่อรับสินค้าในคลังสินค้าของบริษัทผู้ว่าจ้างไปส่งตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด บริษัทฯ จะได้รับค่าจ้างขนส่งจากบริษัทผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินต่อเที่ยวขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ปริมาณ ชนิดของสินค้า และระยะทางที่ไปส่งสินค้า เมื่อบริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายค่าขนส่งให้บริษัทฯ บริษัทผู้ว่าจ้างได้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับค่าขนส่ง บริษัทฯ ขอทราบว่า การประกอบกิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ตามสัญญาจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์สินค้าควบคุมอุณหภูมิดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการรับจ้างขนส่งสินค้าประเภทอาหารสดและเครื่องดื่มที่ต้องเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิ โดยบริษัทฯมีหน้าที่จัดหารถขนสินค้าที่มีตู้บรรทุกสินค้าโดยภายในตู้บรรทุกสินค้านั้นจะต้องติดตั้งเครื่องทำความเย็น จะต้องควบคุมอุณหภูมิคงที่อยู่ระหว่าง 2 ถึง 6 องศาเซลเซียส มาให้บริการขนส่งสินค้าประเภทอาหารสด และเครื่องดื่มพร้อมทั้งต้องมีอุปกรณ์ในการบันทึกอุณหภูมิและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันความเสียหายของผลิตภัณฑ์สินค้าระหว่างการขนส่งเพื่อป้องกันสินค้าเสียหายหรือบูดเน่าระหว่าง การขนส่งให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยรถขนส่งแต่ละคันจะต้องไปถึงที่หมายของผู้ว่าจ้างก่อนเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ในกรณีที่รถไปถึงที่หมายของผู้ว่าจ้างหลังเวลาที่กำหนดเกินกว่า 15 นาที บริษัทฯ ต้องเสียค่าปรับให้ผู้ว่าจ้างในอัตรา 50 บาท ต่อทุกๆ 15 นาที ซึ่งข้อกำหนดเกี่ยวกับงานที่ว่าจ้างในสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์มุ่งถึงผลสำเร็จของงานมากกว่าที่จะขนสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การให้บริการรับจ้างขนส่งสินค้าโดยใช้รถยนต์ที่มีห้องควบคุมอุณหภูมิดังกล่าวถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1)แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34612 |