เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0709/8631
วันที่: 16 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัทฯ ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท อ. จำนวน 4 ครั้ง ผู้กู้ได้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวน 24,632,818.24 บาท ให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวน 4 ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทฯ ใช้เป็นหลักฐานในการเรียกชำระหนี้เงินกู้คืน และในการกู้ยืมแต่ละครั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้ให้ไว้ต่อกัน ต่อมาบริษัทฯ โอนขายตั๋วแลกเงินทั้งหมดให้แก่บริษัท ค. โดยบริษัทฯ จะสลักหลังโอนและส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่ผู้รับโอน และผู้รับโอนตกลงจะชำระค่าตอบแทนในการโอนให้แก่บริษัทฯ โดยแบ่งชำระปีละหนึ่งงวด เป็นเวลา 20 ปี รวมทั้งหมดจำนวน 20 งวด ตามจำนวนเงินและเวลาที่กำหนดในสัญญา ในกรณีที่ผู้รับมอบตั๋วแลกเงินไม่อาจแสวงหาประโยชน์จากสิทธิเรียกร้องในตั๋วแลกเงินได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ผู้รับมอบตั๋วแลกเงินไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้มอบตั๋วแลกเงิน ไม่มีสิทธิเรียกร้องจำนวนเงินใดๆ คืนจากผู้มอบตั๋ว ต่อมาผู้รับโอนผิดนัดไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ ได้ทวงถามให้ผู้รับโอนชำระหนี้แก่บริษัทฯ หลายครั้งแต่ผู้รับโอนไม่ชำระ บริษัทฯ จึงฟ้องผู้รับโอนเป็นคดีล้มละลาย บริษัทฯ ขอทราบว่า
      1. บริษัทฯ โอนขายตั๋วแลกเงินให้แก่ผู้รับโอนตามราคามูลหนี้เงินต้นบวกดอกเบี้ยค้างชำระ ซึ่งผู้รับโอนจะชำระเงินให้แก่บริษัทฯ เป็นงวดๆ ตามจำนวนเงินที่กำหนดในสัญญาหากผู้รับโอนผิดนัดชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญา ผู้รับโอนต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาในอัตราร้อยละ 0.1 บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้จากเงินค่าตอบแทนการโอนขายตั๋วแลกเงินและเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาเพื่อนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
      2. หนี้อันเกิดจากการขายตั๋วแลกเงินตามสัญญาและเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือเป็นหนี้จากการประกอบกิจการ หรือเนื่องจากการประกอบกิจการที่เข้าลักษณะเป็นหนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ หรือไม่
      3. กรณีหนี้ของบริษัทฯ มีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป เมื่อผู้รับโอนถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งจำนวนส่วนแบ่งทรัพย์สินของผู้รับโอนที่จะจ่ายมายังบริษัทฯ ตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้ส่วนที่เหลือเป็นหนี้สูญได้หรือไม่ หรือจะจำหน่ายหนี้สูญได้เมื่อบริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินแล้วเท่านั้น
แนววินิจฉัย:      1. กรณีตาม 1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ เป็นผู้ครอบครองตั๋วแลกเงินในฐานะผู้รับเงินไม่ใช่ผู้ออกตั๋วแลกเงิน บริษัทฯ ได้โอนขายตั๋วแลกเงินให้แก่บริษัท ค. ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตั๋วแลกเงิน ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ทั่วไปตามที่จดแจ้งไว้ในหนังสือรับรองข้อ 4 กู้ยืมเงิน โดยจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งการออก โอน และสลักหลังตั๋วแลกเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนขายตั๋วแลกเงิน และเบี้ยปรับฐานผิดสัญญา ถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ บริษัทฯ ต้องนำไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้เกิดขึ้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม รายรับจากการโอนขายตั๋วแลกเงินและเบี้ยปรับฐานผิดสัญญา ไม่ใช่มูลค่าของฐานภาษีที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ขายตั๋วแลกเงินที่ได้รับมาจากการให้กู้ยืม ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อหรือขายหรือที่ได้จากตั๋วแลกเงินที่บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับจากการประกอบกิจการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเบี้ยปรับฐานผิดสัญญา ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
      2. กรณีตาม 2 การให้กู้ยืม การออก โอน และสลักหลังตั๋วแลกเงินอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ดังนั้น หนี้ที่เกิดจากการโอนขายตั๋วแลกเงินที่ผู้กู้ได้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินตามจำนวนเงินที่ให้กู้ให้แก่บริษัทฯ จึงเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการเมื่อบริษัทฯ ได้ทวงถามให้ผู้รับโอนชำระหนี้แก่บริษัทฯ หลายครั้งแต่ไม่ได้รับชำระ บริษัทฯ จึงฟ้องผู้รับโอนเป็นคดีล้มละลายและศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เข้าลักษณะเป็นหนี้สูญที่จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
      3. กรณีตาม 3 หนี้ตามสัญญาการโอนขายตั๋วแลกเงิน ดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันโอนขายตั๋วแลกเงิน และเบี้ยปรับฐานผิดสัญญามีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ ได้ทวงถามผู้รับโอนให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีโดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้งและไม่ได้รับชำระหนี้ บริษัทฯ จึงฟ้องผู้รับโอนเป็นคดีล้มละลาย ซึ่งลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้วตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ จึงจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้
เลขตู้:69/34584

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020