เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8850
วันที่: 25 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีโอนขายตั๋วแลกเงินและจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 91/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัท ช. จำกัด ได้ให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนหลายคราว โดยในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้ง ผู้กู้ได้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินตามจำนวนเงินที่กู้ยืมแต่ละคราวให้แก่บริษัทฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน ต่อมา บริษัทฯ ได้โอนขายตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่บริษัท ฟ. จำกัด ("ผู้รับโอน") โดยจะสลักหลังโอนและส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่ผู้รับโอนและผู้รับโอนตกลงจะชำระเงินเป็นค่าตั๋วแลกเงินในการโอนให้แก่บริษัทฯ โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและกำหนดเวลาตามสัญญาขายตั๋วแลกเงิน เมื่อผู้รับโอนได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงินจากบริษัทฯ แล้ว ผู้รับโอนไม่สามารถชำระเงินตามสัญญาขายตั๋วแลกเงินได้ครบถ้วน บริษัทฯ จึงได้ทวงถามให้ผู้รับโอนชำระหนี้หลายครั้ง แต่ผู้รับโอนยังคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ บริษัทฯ ได้ฟ้องผู้รับโอนในคดีล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด         1. กรณีตั๋วแลกเงินเป็นหนี้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ย เมื่อบริษัทฯ ได้โอนขายตั๋วแลกเงินตามราคาหน้าตั๋วแลกเงินหรือราคาตามบัญชีของตั๋วแลกเงิน ซึ่งมีเงินต้นบวกดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันโอนขายตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีส่วนลด กำไร หรือส่วนต่างจากการโอนขายตั๋วแลกเงิน บริษัทฯ จะมีสิทธิได้รับชำระค่าตอบแทนในการโอนเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและเวลาที่กำหนดในสัญญา ต่อมาหากผู้รับโอนผิดนัดไม่ชำระเงินดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิเรียกให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินค่าตอบแทนการโอนขายตั๋วแลกเงิน และเบี้ยปรับหรือไม่ อย่างไร
        2. กรณีบริษัทฯ ได้ฟ้องผู้รับโอนในคดีล้มละลาย ถือว่า หนี้จากการขายตั๋วแลกเงินตามสัญญาและจำนวนเบี้ยปรับตามสัญญานั้น เป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการที่มีลักษณะที่จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 หรือไม่ อย่างไร
        3. กรณีหนี้ตามสัญญาดังกล่าวมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญได้ หากผู้รับโอนถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายในคดีล้มละลาย และได้มีการแบ่งทรัพย์สินของผู้รับโอนครั้งแรกแล้ว ตามข้อ 4(3) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จึงขอหารือว่า ในกรณีที่ผู้ล้มละลายถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งจำนวนส่วนแบ่งทรัพย์สินของผู้รับโอนที่จะจ่ายมายังบริษัทฯ ตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายแล้วนั้น บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้ส่วนที่เหลือเป็นหนี้สูญทั้งจำนวนทันทีที่ได้รับแจ้งจำนวนส่วนแบ่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หรือไม่ หรือจะจำหน่ายหนี้สูญได้ต่อเมื่อบริษัทได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินจริงแล้วเท่านั้น
แนววินิจฉัย:        1. กรณีตาม 1 บริษัทฯ ได้โอนขายตั๋วแลกเงินตามราคาหน้าตั๋วแลกเงินหรือราคาตามบัญชีของตั๋วแลกเงิน ซึ่งมีเงินต้นบวกดอกเบี้ยค้างชำระ ณ วันโอนขายตั๋วแลกเงิน บริษัทฯ จะต้องนำดอกเบี้ยและดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาขายตั๋วแลกเงิน มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 65และมาตรา 91/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีตาม 2 และ 3 การที่บริษัทฯ ทำสัญญาขายตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน หากการขายตั๋วแลกเงินอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ เมื่อบริษัทฯ ได้ฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลาย และหนี้ตามสัญญาตั๋วแลกเงินมีจำนวนเกิน 500,000 บาท ศาลจะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญได้ตามข้อ 3 และข้อ 4(3) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้:69/34617

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020