เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8824
วันที่: 24 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเครดิตภาษีเงินส่วนแบ่งกำไรจากนิติบุคคลที่เลิกกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4) และมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:      ห้างหุ้นส่วนจำกัด น.เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตั้งแต่ปี 2531 ห้างฯ มีกำไรสะสมแต่มิได้แบ่งกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน เมื่อปี 2547 ห้างฯ ได้เลิกกิจการและแบ่งกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้เป็นหุ้นส่วนจึงได้นำเงินส่วนแบ่งของกำไรมาถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคำนวณเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรชี้แจงว่า เงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เลิกกิจการเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ไม่ได้รับสิทธิเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอทราบว่า เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกิจการเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตราใด แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

:      เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน มิใช่เงินปันผลเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้:69/34614

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020