เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8823
วันที่: 24 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัท A จำกัด ขอทราบทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังต่อไปนี้
      1. บริษัทฯ ประกอบกิจการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ เริ่มจากการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเมื่อได้รับสิทธิในการนำภาพยนตร์ต่างประเทศออกเผยแพร่หรือจำหน่ายเพื่อหารายได้โดยมีการจำกัดอายุการใช้ตามที่ตกลงกัน บริษัทฯ จะนำภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ได้รับลิขสิทธิ์มาหารายได้จากการนำออกฉายผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์ สิทธิวีดีโอ (ในรูปแบบวีซีดีหรือดีวีดี) เคเบิลทีวี หรือฟรีทีวี เป็นต้น รวมทั้งนำมาจัดทำในรูปแบบของวีซีดีหรือดีวีดีเพื่อออกจำหน่าย ซึ่งปกติภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะสามารถทำรายได้ให้แก่บริษัทฯ ได้จำนวนสูงถึงร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมดของภาพยนตร์แต่ละเรื่องในช่วงปีแรกที่ได้รับลิขสิทธิ์มา ส่วนในปีถัด ๆ ไปรายได้จะลดลงตามลำดับ
      2. การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทฯ ได้เลือกคำนวณหักค่าเสื่อมราคาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศโดยวิธีเส้นตรง กล่าวคือ ในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้ เช่น ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศมาในราคา 5,000,000 บาท มีการจำกัดอายุการใช้ 8 ปี คิดค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี (100 หาร 8) แต่เนื่องจากการคำนวณหักค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีเส้นตรงจะไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์หรือทำรายได้เฉพาะในปีแรกในจำนวนที่สูงถึงร้อยละ 90 ดังกล่าว และจะเป็นผลทำให้บริษัทฯ มีรายจ่ายไม่สัมพันธ์กับรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ จึงต้องการที่จะคำนวณหักค่าเสื่อมราคาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังน
      1. การคำนวณหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินต้องคำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือ ต้องเริ่มคำนวณหักค่าเสื่อมราคาตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ และเมื่อได้เลือกวิธีการทางบัญชีวิธีการใดเพื่อคำนวณหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินแล้วจะต้องใช้วิธีการนั้นตลอดไปเว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจากอธิบดีกรมสรรพากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 แต่ในส่วนของทรัพย์สินใหม่ แม้ว่าจะเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกันกับทรัพย์สินเดิมนั้นก็ตาม ย่อมสามารถเลือกใช้วิธีการทางบัญชีวิธีการอื่นเพื่อการคำนวณหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินใหม่นั้นได้หรือไม่
      2. การเลือกใช้วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาในแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับลักษณะการเสื่อมสภาพของทรัพย์สิน สำหรับวิธีการคิดค่าเสื่อมในอัตราลดลง (Decreasing Charge Method) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวิธีลดลงจากยอดคงเหลือ (Declining Balance Method) นั้น จะเหมาะสมกับทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะแรกและประโยชน์ที่ให้ในระยะหลังไม่แน่นอน หรือมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรายได้ที่จะได้รับในอนาคต เนื่องจากความล้าสมัยของทรัพย์สิน กล่าวคือ จะมีค่าเสื่อมราคาในปีแรกสูง และค่อย ๆ ลดลงตามลำดับจนถึงปีสุดท้ายของการใช้งาน
แนววินิจฉัย:        1. กรณีตาม 1. การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรง (Straight line Method) ได้ ในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้ และให้ใช้วิธีการทางบัญชี และอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ดังนั้น ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องใหม่ที่บริษัทฯ ซื้อมาจึงมีสิทธิเลือกใช้วิธีการหักค่าเสื่อมราคาตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปที่แตกต่างไปจากวิธีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องเดิมได้ ไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 และมาตรา 4(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
      2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศตามวิธีการลดลงจากยอดคงเหลือ (Declining Balance Method) วิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้นได้ เนื่องจากเป็นวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปตามแถลงการณ์มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 10 เรื่อง บัญชีค่าเสื่อมราคา
เลขตู้:69/34613

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020