เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8419
วันที่: 9 ตุลาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการชิปปิ้ง จัดเก็บสินค้าและขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ


ข้อหารือ:      บริษัท ก. ขอหารือดังนี้
        1. บริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้าโดยจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้ากับ กรมการขนส่งทางบก และให้บริการเก็บของในคลังสินค้าตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน โดยลงทุนในกิจการขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกประมาณ 50 คัน หัวลาก เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าและคลังสินค้าทั้งหมด สำหรับค่าบริการขนส่งสินค้านั้น บริษัทฯ จะคำนวณค่าบริการเป็นรายเที่ยว โดยพิจารณาจากระยะทาง เส้นทางเดินรถ เวลาการทำงาน ตลอดจนมี
พนักงานของบริษัทฯ เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ ส่วนการบริการคลังสินค้า บริษัทฯ จะคำนวณค่าบริการ  ตามปริมาณสินค้าที่เก็บรักษาไว้ในแต่ละเดือน ส่วนค่าบริการชิปปิ้ง บริษัทฯ จะคิดเป็นรายครั้งของการ ให้บริการ ทั้งนี้ ลูกค้าจะเลือกใช้บริการใดบริการหนึ่ง หรือหลายบริการก็ได้
        2. ลักษณะการให้บริการและความรับผิดของการบริการแต่ละอย่างแตกต่างกันไปตามแต่กฎหมาย กำหนด บริษัทฯ จึงทำสัญญากับลูกค้าในส่วนของการขนส่งสินค้าและการบริการคลังสินค้าแยกต่างหาก จากกัน อีกทั้งลูกค้าอาจเลือกใช้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้บริการทั้งสองอย่าง  ในเวลาเดียวกัน กิจการทั้งสองจึงเป็นอิสระจากกันไม่ใช่กิจการหรือการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกันสำหรับ
การให้บริการชิปปิ้งนั้น เกิดขึ้นจากความจำเป็นในทางธุรกิจที่บริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่  จะให้บริการชิปปิ้งเป็นบริการพ่วงกับการขนส่งสินค้า บริษัทฯ ต้องเพิ่มการให้บริการชิปปิ้ง เพื่อสนับสนุน ธุรกิจขนส่งสินค้าของบริษัทฯ เท่านั้น มิใช่กรณีที่บริษัทฯ ให้บริการชิปปิ้งเป็นหลัก แล้วพ่วงการบริการ ขนส่งสินค้า เนื่องจากการประกอบกิจการขนส่งสินค้า เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ)  แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ เข้าใจว่า การให้บริการอื่นเพิ่มเติมนอกจากขนส่งสินค้าที่เข้าลักษณะเป็นการ ให้บริการโดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะ
กิจการนั้น ๆ



แนววินิจฉัย        1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งสินค้าเป็นปกติธุระเป็นส่วนใหญ่
(1) การให้บริการชิปปิ้ง และมีการให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย โดยรวมยอดค่าบริการชิปปิ้ง และค่าขนส่งสินค้าเป็นยอดเดียวกัน ถือเป็นการให้บริการชิปปิ้งทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการชิปปิ้งและค่าขนส่งสินค้ารวมกันตามข้อ 3/1   ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 กรณีการให้บริการชิปปิ้งและมีการให้บริการขนส่งสินค้าโดยแยกยอดค่าบริการชิปปิ้งและ ค่าขนส่งสินค้าต่างหากจากกันชัดแจ้ง ค่าบริการชิปปิ้งถือเป็นการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่  26 กันยายน พ.ศ. 2528 ส่วนค่าขนส่งสินค้า ถือเป็นการให้บริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
(2) การให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า และมีการให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย โดยรวมยอดค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและค่าขนส่งสินค้าเป็นยอดเดียวกันถือเป็นการให้บริการ คลังสินค้าทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร  ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ จัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและค่าขนส่งสินค้ารวมกันตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
กรณีการให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและมีการให้บริการขนส่งสินค้าโดยแยกยอด ค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและค่าขนส่งสินค้าต่างหากจากกันชัดแจ้ง ค่าบริการจัดเก็บสินค้า ในคลังสินค้าถือเป็นการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวล รัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0
ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ส่วนค่าบริการขนส่งสินค้า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 เช่นเดียวกับ (1)
        2. กรณีบริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าเป็นปกติธุระเป็นส่วนใหญ่
(1) การให้บริการชิปปิ้ง และมีการให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งสินค้า ออกจากค่าบริการชิปปิ้งหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการให้บริการชิปปิ้งทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการชิปปิ้งและค่าบริการขนส่งสินค้ารวมกันตามข้อ 3/1 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
(2) การให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าของบริษัทฯ และบริการขนส่งสินค้าของลูกค้าที่อยู่ใน คลังสินค้าตามสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด ไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งสินค้าออกจากค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และ
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา ร้อยละ 3.0 ของค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและค่าบริการขนส่งสินค้ารวมกัน ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้:69/34563

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020