ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)
เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่ กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดี กรมสรรพากรกำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำ ในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำ ในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดี กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้น ในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ข้อ 2 กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่ง ประมวลรัษฎากร
(1) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้น ในต่างประเทศ
กรณีการให้บริการตามวรรคหนึ่งซึ่งมีการใช้บริการบางส่วนในราชอาณาจักรด้วย ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ
การให้บริการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า แต่ไม่รวมถึงการให้บริการจัดนำเที่ยวในต่างประเทศ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 181) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป)
(2) การให้บริการต่อเรือเดินทะเล การให้บริการซ่อมแซมอากาศยานหรือเรือเดินทะเลที่กระทำในราชอาณาจักร โดยผู้รับบริการต้องเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้รับบริการดังกล่าวจะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
ผู้รับบริการตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบกิจการให้บริการขนส่ง ระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้บริการรับขนคนโดยสารหรือรับขนสินค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ผ่านประเทศไทย
(ข) ให้บริการรับขนคนโดยสารหรือรับขนสินค้าระหว่างประเทศ โดยผ่านประเทศไทยด้วย
(ค) ให้บริการรับขนคนโดยสารหรือรับขนสินค้าระหว่างประเทศ และมีการรับขนคนโดยสารหรือรับขนสินค้าภายในประเทศไทยด้วย
(3) การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน สำหรับทรัพย์สินในต่างประเทศ หรือสำหรับสินค้า ที่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักร
(4) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกและการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน
การให้บริการตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การให้บริการที่กระทำต่อตัวสินค้าและมีการส่งออกสินค้านั้นหรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เช่น การรับจ้างแกะสลักบานประตู การรับจ้างทำน้ำยาเคลือบประตู หรือการให้บริการรับจ้างทำส่วนประกอบ อุปกรณ์ เพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 122) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
ข้อ 3 การประกอบกิจการตามข้อ 2 ต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคา ค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐาน การเปิด L/C (Letter of Credit) หลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เอกสารใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการรับชำระเงิน ตาม L/C (Letter of Credit) หรือ Bank Statement เอกสารที่ระบุว่านำเงิน เข้าบัญชีธนาคารโดยใช้สมุดคู่ฝาก เอกสารการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยไม่มีสมุดคู่ฝาก หลักฐานการรับชำระเงินตามบัตรเครดิต การใช้ E-money หรือ E-cash เว้นแต่ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการ
ข้อ 4 การประกอบกิจการตามข้อ 2(4) กรณีการให้บริการที่กระทำใน ราชอาณาจักรที่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกรณีการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรที่ ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการในเขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 122) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร