เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 108/2544
เรื่องการเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
--------------------------------

      เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

      ข้อ   1   กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      ข้อ   2   กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้ของกองทุนรวมดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(24) แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ ก็ไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

      กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดตาม พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ.2536

      กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ได้รับเงินปันผลเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ ก็ไม่ต้องนำเงินปันผลไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

      ข้อ   3   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและบริษัท จดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไร สุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและบริษัท จดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้ของกองทุนรวม ดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(24) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขที่กำหนด ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและบริษัท จดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงิน ส่วนแบ่งของกำไร ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ.2536

      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและบริษัท จดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับเงินปันผลจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

      ข้อ   4   กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือบริษัทจดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินปันผลที่เข้าลักษณะตามข้อ 3 วรรคหนึ่งและข้อ 3 วรรคสาม ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือบริษัทจดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินปันผลที่เข้าลักษณะตามข้อ 3 วรรคสอง และข้อ 3 วรรคสี่ ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      ข้อ   5   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือบริษัทจดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และเงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง และข้อ 3 วรรคสาม ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายว่าไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือบริษัท จดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และเงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินปันผล ที่จ่ายจากกำไรทั้งใน ส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง และข้อ 3 วรรคสาม และกำไรจากการประกอบกิจการอื่นรวมอยู่ด้วย ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุ ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินที่ได้จ่ายนั้นจำนวนใดได้รับเครดิตภาษีและจำนวนใดไม่ได้รับเครดิตภาษี

สั่ง ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
อธิบดีกรมสรรพากร

หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก ส.ค.44

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-08-2002