ตามที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 117) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงขอชี้แจงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่า ตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่าไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณมารวมคำนวณเป็น มูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผลทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังกล่าวคำนวณภาษีขายจากผลต่างระหว่างมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายซึ่งรวมค่ากำเหน็จและมูลค่าของทองรูปพรรณที่รับซื้อคืนตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2544 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ทองรูปพรรณตามข้อ 1 หมายความว่า ทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีไว้เพื่อโชว์ ทั้งนี้ ต้องไม่มีอัญมณีประกอบอยู่ด้วย และทองรูปพรรณตามข้อ 1 หมายความรวมถึงนากที่สามารถคำนวณราคารับซื้อคืนได้ตามส่วนของราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนด้วย
ข้อ 3 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า ได้คำนวณภาษีขายจากผลต่างระหว่างมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายซึ่งรวมค่ากำเหน็จและมูลค่าของทองรูปพรรณที่รับซื้อคืนตามประกาศของสมาคม ค้าทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2544 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2544 โดยมิได้ดำเนินการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบรับ ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2544 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 106) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2543 ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิคำนวณภาษีขายจากผลต่างระหว่างมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายซึ่งรวมค่ากำเหน็จและมูลค่าของทองรูปพรรณที่รับซื้อคืนตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2543 เป็นต้นไป
จึงขอชี้แจงมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน |