เมนูปิด

คำชี้แจงกรมสรรพากร
เรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544
เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
--------------------------------

      ตามที่ได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ.2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ และคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 ซึ่งกรมสรรพากรได้มีคำชี้แจงกรมสรรพากร ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และคำชี้แจงกรม สรรพากร ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 นั้น

      กรมสรรพากรขอชี้แจงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพิ่มเติมสำหรับกิจการให้บริการ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน กิจการให้บริการเป็นตัวแทนรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน และกิจการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Freight Forwarder) ดังนี้

      ข้อ   1   กรณีการจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดย อากาศยาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

      (1)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งรับขนส่งสินค้าเข้ามา ในประเทศไทยหรือรับขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544

      (2)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กระทำกิจการ ขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ซึ่งรับขนส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      (3)   การจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กระทำกิจการ ขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ซึ่งรับขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้น ส่วนนิติบุคคล ดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

      ข้อ   2   กรณีเจ้าของสินค้าจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ให้กับ ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขน ส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรท ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 โดยเจ้าของสินค้าจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน

      ข้อ   3   กรณีเจ้าของสินค้าจ่ายค่าขนส่งสินค้า (Freight) ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ให้กับ ตัวแทนรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดย อากาศยานซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้ง เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 โดยเจ้าของสินค้าจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบกิจการให้บริการรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน และเมื่อตัวแทนรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งนำเงินค่าขนส่งสินค้า (Freight) จ่ายให้กับ ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่าง ประเทศโดยอากาศยาน ตัวแทนดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      ข้อ   4   กรณีผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Freight Forwarder) เรียกเก็บค่าขนส่งสินค้า และค่าธรรมเนียมในการจัดการขนส่งสินค้าจากเจ้าของสินค้า โดย มิได้แยกค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมในการจัดการออกจากกัน เมื่อ เจ้าของสินค้าจ่ายเงินดังกล่าวให้กับ Freight Forwarder ถือเป็นการจ่ายค่าบริการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544

      กรณีผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Freight Forwarder) เรียกเก็บค่าขนส่งสินค้า และค่าธรรมเนียมในการจัดการขนส่งสินค้าจากเจ้าของสินค้าโดยแยกค่าขนส่งสินค้าและค่าธรรมเนียมในการจัดการออกจากกัน เมื่อจ่ายค่าขนส่งสินค้าในนามของเจ้าของสินค้าให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน Freight Forwarder มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ในนามของเจ้าของสินค้า ซึ่ง Freight Forwarder จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของ Freight Forwarder และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของ เจ้าของสินค้าด้วย เมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงินดังกล่าวคืนให้กับ Freight Forwarder เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

      ผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน (Freight Forwarder) มีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได ้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 เป็นรายฉบับแต่ละรายเจ้าของสินค้า โดย Freight Forwarder จะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสีย ภาษีอากรของเจ้าของสินค้าในช่อง "ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย" และระบุชื่อ Freight Forwarder ในช่อง "ผู้จ่ายเงิน" ซึ่งกรมสรรพากรจะออก ใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้า และให้ Freight Forwarder ส่งสำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินให้กับเจ้า ของสินค้าด้วย

      กรณีเจ้าของสินค้าจ่ายค่าบำเหน็จให้กับ Freight Forwarder ในการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 101/2544ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 จึงขอชี้แจงมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

กรมสรรพากร
20 กรกฎาคม 2544

หน้าจอหลักบริการสารสรรพากร : : หน้าจอหลัก ก.ค.44

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-08-2002