เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9923
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการแปลงรายการดอกเบี้ยและค่าที่ปรึกษาค้างชำระเป็นรายการต้นเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2) มาตรา 40(4)(ก) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการแปลงรายการดอกเบี้ยและค่าที่ปรึกษาค้างชำระเป็นรายการเงินต้นกู้ยืมใหม่ราย บริษัท อ. โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
      1. ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 พบว่า บริษัท อ. กู้ยืมเงินจากบริษัท ด.ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนเงิน 186,948,042.38 บาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.0 ต่อปี บริษัทฯ จึงมีรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเป็นจำนวน 9,442,519.64 บาท นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังมีรายจ่ายค่าที่ปรึกษาแนะนำทางการผลิตอีกเป็นจำนวน 2,325,971.61 บาท บริษัทฯ ยังมิได้จ่ายรายจ่ายจำนวนดังกล่าวแก่บริษัท ด. แต่ได้บันทึกรายจ่ายค้างชำระไว้ในบัญชีเจ้าหนี้และเงินกู้ยืมเป็นจำนวน 11,768,491.25 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 บริษัทฯ ได้นำรายการค้างจ่ายจำนวน 11,768,491.25 บาท มาแปลงเป็นรายการเงินกู้ยืมรวมกับรายการเงินกู้ยืมเดิม รวมเป็นต้นเงินกู้ยืมใหม่เป็นจำนวน 198,716,533.63 บาท และบริษัทฯ มีรายจ่ายดอกเบี้ยที่คำนวณจากต้นเงินกู้ยืมใหม่อีกเป็นจำนวน 9,935,826.68 บาท บริษัทฯ ยังมิได้ชำระดอกเบี้ยดังกล่าว และได้นำดอกเบี้ยค้างชำระมาแปลงเป็นรายการเจ้าหนี้เงินกู้อีก ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 บริษัทฯ มีต้นเงินกู้ยืมรวมเป็นเงินทั้งสิ้นเป็นจำนวน 208,652,360.31 บาท
      2. กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่โดยการแปลงดอกเบี้ยเงินกู้เป็นต้นเงินกู้ย่อมถือได้ว่า เจ้าหนี้เงินกู้ในต่างประเทศได้รับชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแล้ว บริษัทผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัท ฯ ยินยอมชำระภาษีโดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 นำส่งภาษีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 แยกเป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้รอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 จำนวน 9,442,519.64 บาท หักภาษีเงินได้นำส่งจำนวน 1,416,377.95 บาท เงินเพิ่มจำนวน 509,896.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,926,274.57 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 จำนวน 9,935,826.65 บาท หักภาษีเงินได้นำส่ง 1,490,374.99 บาท เงินเพิ่มจำนวน 268,267.49 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,758,642.48 บาท ส่วนค่าที่ปรึกษาที่ต้องจ่ายให้บริษัท ด. จะขอหารือกรมสรรพากรก่อน
แนววินิจฉัย:      กรณีการแปลงรายการดอกเบี้ยเงินกู้ยืมค้างชำระและค่าที่ปรึกษาแนะนำการผลิตหรือค่าบริหารจัดการค้างชำระไปเป็นรายการต้นเงินกู้ยืมใหม่นั้น ถือว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว ดังนั้น บริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีภาระในการหักภาษีเงินได้ดังนี้
      1. กรณีบริษัทฯ ตกลงกับบริษัท ด. ซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศเนเธอร์แลนด์มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้นำรายการดอกเบี้ยค้างชำระมาแปลงเป็นรายการต้นเงินกู้ใหม่ถือว่า บริษัท ด. เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแล้ว ดอกเบี้ยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีและนำส่งในอัตราร้อยละ 15.0 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11 (2)(ข) ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ
      2. กรณีบริษัทฯ ตกลงกับบริษัท ด. ให้นำรายการค่าที่ปรึกษาแนะนำการผลิตหรือค่าบริหารจัดการค้างชำระแปลงเป็นรายการต้นเงินกู้ยืมใหม่ ถือว่าบริษัท ด. เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าที่ปรึกษาแนะนำการผลิตหรือค่าบริหารจัดการแล้ว หากการให้คำปรึกษาหรือการบริหารจัดการดังกล่าว ไม่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าบริษัท ด. ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เงินค่าตอบแทนดังกล่าวถือเป็นกำไรจากธุรกิจ บริษัท ด. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้จึงไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและไม่ต้องนำส่งภาษีจากเงินได้นั้น ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากการให้คำปรึกษาหรือแนะนำการผลิตดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือวิทยาศาสตร์ของผู้แนะนำ ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทค่าสิทธิตามนัยข้อ 2(ข) ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของค่าตอบแทน ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34661

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020