เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9290
วันที่: 9 พฤศจิกายน 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 5 มาตรา 8 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549
ข้อหารือ:      สมาชิกของสมาคม A (สมาคมฯ) ได้มีการทำสัญญาเงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศระหว่างกิจการวิเทศธนกิจ เพื่อให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทย ก่อนวันที่ 17 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ สัญญาเงินกู้ดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมวิเทศธนกิจ Out-Out ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้สัญญาเงินกู้ดังกล่าว คือ รัฐบาลไทยมิใช่ธนาคารผู้ให้กู้ ทั้งนี้ เพราะภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ทางรัฐบาลไทยต้องเป็นผู้รับภาระ ตามสัญญาเงินกู้ที่ทำไว้กับธนาคาร แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 เพื่อยกเลิกสิทธิประโยชน์ทั้งปวงที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ และได้กำหนดคำนิยามใหม่ของธุรกรรมวิเทศธนกิจ Out-Out และกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกรรมวิเทศธนกิจ Out-Out ตามนิยามใหม่ ทั้งนี้ คำนิยามของธุรกรรมวิเทศธนกิจ Out-Out ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 ไม่ได้ระบุถึงการปล่อยกู้เงินให้แก่รัฐบาลไทย ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอทราบว่า สัญญาเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อการให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามธุรกรรมวิเทศธนกิจ Out-Out ที่ระบุในมาตรา 5 และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 หรือไม่
แนววินิจฉัย:       เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 ได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 แต่ยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ (Out-Out) ทั้งนี้ การที่สมาคมฯ ได้ทำสัญญาเงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทย ไม่เข้าลักษณะตามคำนิยามการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ (Out-Out) ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 ซึ่งมิได้รวมถึงการให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทย ดังนั้น สมาคมฯผู้ให้กู้จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 5 และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549 จากการทำสัญญากู้ยืมเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมแก่รัฐบาลไทยแต่ประการใด
เลขตู้: 69/34636

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020