เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./9630
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 มาตรา 78 มาตรา 80 มาตรา 86 มาตรา 86/4 มาตรา 82 มาตรา 83/8 และมาตรา 83/9 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัท L เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย และสั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศไทยมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ได้ส่งสินค้าไปเก็บไว้ที่คลังเก็บสินค้าของบริษัท T ซึ่งเป็นผู้ประกอบการให้บริการเก็บและจัดส่งสินค้าซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรอีสเทิ์รนซีบอร์ด จังหวัดระยอง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
      1. กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย ส่งสินค้าเข้าไปเก็บในเขตปลอดอากร ผู้ประกอบการในประเทศไทย ดังกล่าวจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่
      2. กรณีบริษัทฯ ได้ขายสินค้าที่เก็บรักษาไว้ในเขตปลอดอากรให้กับลูกค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีขายและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
         2.1 กรณีบริษัทฯ ส่งมอบสินค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากร ให้แก่ลูกค้าและลูกค้าดังกล่าวนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยทำพิธีการศุลกากรเอง
         2.2 กรณีบริษัทฯ นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยทำพิธีการศุลกากรในนามของบริษัทฯ และนำไปพักไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าดังกล่าวจะนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนตามจำนวนที่ต้องการ
         2.3 กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยจ้างบริษัทรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ เช่น DHL หรือ FED EX ให้ดำเนินพิธีการศุลกากรและส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรง
แนววินิจฉัย:
      1. กรณีบริษัทฯ ได้สั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยดังกล่าว ส่งสินค้าเข้าไปเก็บไว้ที่คลังเก็บสินค้าของบริษัท T ซึ่งอยู่ในเขตปลอดอากร ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และส่งมอบให้แก่บริษัทฯ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78 มาตรา 80 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อผู้ประกอบการในประเทศไทยส่งสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยทำพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้า แม้ใบขนสินค้าขาเข้าจะเป็นชื่อของผู้ประกอบการในประเทศไทย แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ได้แก่ บริษัทฯ เนื่องจากถือว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากรและผู้ประกอบการในประเทศไทยขายสินค้าดังกล่าวในราชอาณาจักร
      2. กรณีบริษัทฯ ได้ขายสินค้าที่เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าในเขตปลอดอากรให้แก่ลูกค้า ซึ่งอยู่นอกเขตปลอดอากร กรณีดังต่อไปนี้
         2.1 กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้โอนสิทธิในสินค้าที่เก็บไว้ที่คลังเก็บสินค้าของบริษัท T ซึ่งอยู่ในเขตปลอดอากร ให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าดังกล่าวเป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยทำพิธีการศุลกากรเอง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78(1) และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และหากลูกค้าดังกล่าวเป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยทำพิธีการศุลกากรเอง ลูกค้าในฐานะผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/1(11) มาตรา 82 และมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร
         2.2 กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งอยู่นอกเขตปลอดอากร โดยบริษัทฯ นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยทำพิธีการศุลกากรในนามของบริษัทฯ และนำไปพักไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าดังกล่าวจะนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนตามจำนวนที่ต้องการ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78(1) และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทฯ กระทำพิธีการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรและนำสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร บริษัทฯ ผู้นำสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนจะวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้ และถ้าภายหลังสินค้านั้นได้ปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมิใช่เพื่อการส่งออก ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มต้องยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามมาตรา 83/8 วรรคสอง และมาตรา 83/9 แห่งประมวลรัษฎากร
         2.3 กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในนามของบริษัทฯ โดยว่าจ้างบริษัทรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ เช่น DHL หรือ FED EX ให้ดำเนินพิธีการศุลกากรและส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรง กรณีดังกล่าว บริษัทรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศเป็นผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร และสำหรับการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78(1) มาตรา 80 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34648

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020