เลขที่หนังสือ | : กค 0706/10333 |
วันที่ | : 18 ธันวาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด |
ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน 2542 |
ข้อหารือ | : บริษัท A ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ดังนี้ 1. เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2547 ให้โอนกิจการทั้งหมดของบริษัท A และบริษัท B ให้กับบริษัท C ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบ ซึ่งผู้บริหารแผนต้องดำเนินการโอนกิจการทั้งหมดตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางดังกล่าว บริษัท A จึงขอทราบว่า หากบริษัท A บริษัท B และบริษัท C ("กลุ่มบริษัท C") ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แต่จะเลือกไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 เนื่องจากกลุ่มบริษัท C ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายล้มละลายแล้ว ความเข้าใจของบริษัท A ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร 2. หากกลุ่มบริษัท C สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 ตามข้อ 1. ได้ กลุ่มบริษัท C จะมีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต่อเจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเจ้าพนักงานอื่นของรัฐ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ. 2541 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้หรือการประนอมหนี้ตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้ว และยกเว้นภาษีอากรให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ดังนั้น การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดจึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว |
เลขตู้ | : 69/34696 |