เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./10134
วันที่: 12 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการรับชำระค่าไฟฟ้าด้วยเงินสด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      ธนาคารฯ เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ปัจจุบันธนาคารฯ เป็นตัวแทนรับชำระเงินแทนลูกค้า เนื่องจากธนาคารฯ มีความประสงค์จะให้บริการแก่การไฟฟ้าฯ ในการรับชำระค่ากระแสไฟฟ้าเป็นเงินสดหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารฯ โดยการไฟฟ้าฯ กำหนดให้ธนาคารฯ ต้องออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มส่งกรมสรรพากรแทนการไฟฟ้าฯ โดยธนาคารฯ จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการครั้งละ 10 บาท ธนาคารฯ จึงขอทราบว่า
      1. ธนาคารฯ จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกิจการรับชำระค่ากระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ได้หรือไม่
      2. ธนาคารฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้บริการและรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มค่าไฟฟ้าในนามหรือแทนการไฟฟ้าฯ ได้หรือไม่
      3. ธนาคารฯ เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการครั้งละ 10 บาท ธนาคารฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่หน้าเคาน์เตอร์สาขาของธนาคารฯ หรือไม่
แนววินิจฉัย:      กรณีธนาคารฯ ให้บริการรับชำระค่ากระแสไฟฟ้าแทนการไฟฟ้าฯ เป็นเงินสดหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารฯ แยกพิจารณาได้ดังนี้
      1. กรณีการไฟฟ้าฯ เป็นผู้ประกอบกิจการขายกระแสไฟฟ้า รายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
      การไฟฟ้าฯ เป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิทำสัญญาตั้งธนาคารฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นตัวแทนออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2538 ดังนั้น การไฟฟ้าฯ มีสิทธิทำสัญญาตั้งธนาคารฯ เป็นตัวแทนรับชำระค่ากระแสไฟฟ้า ออกใบรับหรือใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการโดยตัวแทนได้ หรือเป็นผู้ส่งมอบใบรับหรือใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
      2. กรณีธนาคารฯ ได้รับค่าบริการจากลูกค้าผู้ใช้บริการครั้งละ 10 บาท ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการให้บริการดังกล่าวของธนาคารฯ ถือว่า เป็นกิจการเฉพาะอย่างที่มิใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการธนาคารฯ ดังนั้น ธนาคารฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวตามมาตรา 91/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ จึงเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ กรณีที่มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ก็ให้ถือว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อธนาคารฯ ได้รับชำระค่าบริการด้วยเงินสด กรณีถือได้ว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการได้เกิดขึ้นแล้ว ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการรับชำระค่าบริการทุกครั้ง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าผู้รับบริการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ หากธนาคารฯ มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นเงินเกินหนึ่งล้านสองแสนบาทต่อปี และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป เป็นเงินเกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34678

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020