เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10135
วันที่: 12 ธันวาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของพนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 42 ทวิ และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      สำนักงานคณะกรรมการได้จ้างเหมาบุคคลภายนอก เพื่อปฏิบัติงานในส่วนที่อัตรากำลังข้าราชการไม่เพียงพอ และรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น สำนักงานฯ จึงขอทราบว่า
      1. กรณีผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีจากเงินค่าจ้างที่สำนักงานฯ จ่ายให้จะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และหากเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร การหักค่าใช้จ่ายผู้มีเงินได้มีสิทธิหักได้ในอัตราเท่าใด และจะต้องแนบหลักฐานอะไรบ้าง
      2. กรณีสำนักงานฯ ต้องจ่ายเงินได้ให้กับผู้รับจ้างในแต่ละคราว จะต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย:      1. เงินค่าจ้างที่บุคคลธรรมดาได้รับตามสัญญาจ้าง ซึ่งคู่สัญญามีความประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กันอย่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนประจำรายเดือนทุกเดือนไม่ได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงาน แต่มุ่งถึงการจ้างแรงงานที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
      2. เงินได้จากการทำงานที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้าง ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/34679

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020