เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./10129 |
วันที่ | : 12 ธันวาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ก่อนการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 83/6 มาตรา 78/1 มาตรา 84/1 และมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด ได้จ่ายเงินได้ประเภทค่าสิทธิให้แก่บริษัท A ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.36 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 โดยบริษัทฯ ระบุวัน เดือน ปี ที่จ่ายเงินในแบบ ภ.พ.36 เป็นวันที่ 21 มีนาคม 2549 แต่วันที่ที่บริษัทฯ ได้โอนเงินเพื่อชำระค่าสิทธิดังกล่าว คือ วันที่ 5 มิถุนายน 2549 การยื่นแบบ ภ.พ.36 ของบริษัทฯ นั้น เป็นการยื่นแบบฯ ไว้ก่อนที่บริษัทฯ ได้ชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการให้กับบริษัทในต่างประเทศ โดยได้ระบุวัน เดือน ปี ที่จ่ายเงินตามใบเสร็จรับเงินที่เรียกเก็บโดยบริษัทฯ ในต่างประเทศ และบริษัทฯ ได้นำรายการดังกล่าวไปถือเป็นยอดซื้อ และภาษีซื้อสำหรับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ในเดือนภาษีมีนาคม 2549 จึงขอทราบว่า 1. การยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนที่บริษัทฯ จะชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร หรือให้แก่ผู้ประกอบการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 ตามใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้ไปใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีมีนาคม 2549 ได้หรือไม่ หากไม่ได้ บริษัทฯ จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีมีนาคม 2549 และต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษีเพื่อนำไปถือเป็นภาษีซื้อในแบบ ภ.พ.30 ของเดือนภาษีมิถุนายน 2549 หรือไม่อย่างไร 3. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างวันที่มีการโอนเงินจริง และวันที่ตามใบเสร็จรับเงินที่บริษัทฯ ใช้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในการยื่นแบบ ภ.พ.36 จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ วันใด |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าสิทธิให้กับบริษัทในต่างประเทศตามข้อเท็จจริงข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าบริการจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จะเกิดขึ้นเมื่อผู้รับบริการได้ชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนตามาตรา 78/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้น 2. การที่บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปตามข้อเท็จจริงข้างต้นถือว่า บริษัทฯ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องนำส่ง บริษัทฯ จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ได้นำส่งไปตามมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 ใหม่ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่บริษัทฯ ได้ชำระค่าสิทธิให้บริษัทในต่างประเทศจริง 3. กรณีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ของวันที่ได้ทำการชำระเงินค่าบริการจริงในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร |
เลขตู้ | : 69/34675 |