เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. 81/2542
เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

 

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 ทวิ วรรคสอง มาตรา 67 ตรี วรรค สาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 มาตรา 89 วรรคสอง และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดี กรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์การงดหรือลด เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

            ข้อ 1 ให้ยกเลิก
                  (1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.11/2529 เรื่อง ระเบียบการงด หรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้และภาษีการค้าตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี และมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2529
                  (2) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงด หรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรม สรรพากร ที่ ท.ป.50/2537 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2537

            ข้อ 2 ให้บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 89 หรือมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงาน ประเมินแสดงเหตุที่ของดหรือลดเบี้ยปรับนั้น เว้นแต่กรณีอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาเห็น สมควรจะสั่งให้งดหรือลดเบี้ยปรับโดยไม่ต้องมีคำร้องก็ได้
                  การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือ แจ้งการประเมิน ถ้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
                  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ หรือกรณีผู้ประกอบกิจการที่เสียภาษีธุรกิจ เฉพาะได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมกับการยื่นแบบแสดงราย การนั้น โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้ถือว่า แบบแสดงรายการดังกล่าวเป็นคำร้องตามวรรคหนึ่ง
                  คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือตามวรรคสาม หมายความถึง กรณีเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจพบความผิดและได้มีการบันทึกความผิดไว้ใน หนังสือหรือบันทึกข้อความแล้ว

( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.127/2546 )

            ข้อ 3 เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้เฉพาะกรณีเจ้า พนักงานประเมินเห็นว่า บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความ ร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี

            ข้อ 4 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 22 หรือมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ แต่ต้องให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของ เบี้ยปรับ

            ข้อ 5 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(1) มาตรา 89(2) มาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ โดยให้ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                  (1) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหรือแบบนำส่งนั้น โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจ สอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
                        (ก) ถ้าชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ
                        (ข) ถ้าชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ

( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.117/2545 )

                        (ค) ถ้าชำระภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ

( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.117/2545 )

                        (ง) ถ้าชำระภายหลัง 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับ
                  (2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ยื่นแบบแสดงรายการภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.71) หรือแบบนำส่งภาษี และผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้มายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษี และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหรือแบบนำส่งนั้น
                        (ก) ภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าว ให้เสีย ร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับ
                        (ข) พ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าว ให้เสียร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับ
                  (3) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิดในการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวล รัษฎากร และได้มีการบันทึกความผิดไว้ในหนังสือหรือบันทึกข้อความแล้ว ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
                        (ก) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับ
                        (ข) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ พ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับ
                  (4) ในกรณีที่มีการตรวจพบการกระทำความผิดตาม (3) แล้ว แต่ เจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้ดำเนินการประเมินภาษีให้เสร็จสิ้น และผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือ ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้มายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือแบบนำส่งภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหรือแบบนำส่งนั้น ก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ให้ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจพบการกระทำ ความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ให้เจ้าพนักงาน ประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดเบี้ยปรับได้ ตามอัตราและเงื่อนไขตาม (3)

            ข้อ 6 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(5) และมาตรา 89(10) แห่งประมวล รัษฎากร ซึ่งไม่ใช่กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้เจ้าพนักงานประเมินมี อำนาจพิจารณาสั่งลดได้ โดยให้ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                  (ก) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นภายใน หนึ่งปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับ
                  (ข) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อพ้น กำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับ

            ข้อ 7 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(10) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมีสินค้า ขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ โดยให้ ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                  (1) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้นำฐานภาษีซึ่งมีการกระทำความผิด กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี มูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการแล้ว ไม่ว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้นจะ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
                        (ก) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ภายในสองปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ
                        (ข) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ พ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับ
                  (2) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ได้นำฐานภาษีซึ่งมีการกระทำความผิด กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ เสียร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับ

            ข้อ 8 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้า พนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ โดยให้ลดลงคงเสียตามอัตราและเงื่อนไขดัง ต่อไปนี้
                  (1) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้นำฐานภาษีซึ่งมีการกระทำความผิดตาม มาตรา 89(8) แห่งประมวลรัษฎากร ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการแล้ว ไม่ว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้นจะถูกต้องครบ ถ้วนหรือไม่ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
                        (ก) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ภายในสองปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 0.5 ของเบี้ยปรับ
                        (ข) ถ้าการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ พ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เสียร้อยละ 1 ของเบี้ยปรับ
                  (2) ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ได้นำฐานภาษีซึ่งมีการกระทำความผิด ตามมาตรา 89(8) แห่งประมวลรัษฎากร ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสีย ร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ

            ข้อ 9 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(9) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนัก งานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ แต่ต้องให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับ

            ข้อ 10 การงดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(6) และมาตรา 89(7) แห่ง ประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งงดหรือลดได้ เว้นแต่อธิบดี กรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่น

            ข้อ 11 การงดหรือลดเบี้ยปรับนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ ให้ กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.120/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.121/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.127/2546 )

            ข้อ 12 ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับหลายกรณีตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินสั่งเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่ง เป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก และอาจพิจารณาสั่งลดให้อีกตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 หรือข้อ 11 สำหรับกรณีที่เรียกเก็บนั้น ส่วนกรณีอื่นให้งด

            ข้อ 13 ให้นำความในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 11 และข้อ 12 มาใช้บังคับสำหรับการงดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากรโดย อนุโลม

( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.121/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.127/2546 )

            ข้อ 14 ให้บุคคลที่จะต้องเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา 67 ตรี ทำคำร้องเป็น หนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินแสดงเหตุที่ของดหรือลดเงินเพิ่มนั้น เว้นแต่กรณีอธิบดีกรม สรรพากรพิจารณาเห็นสมควรจะสั่งให้งดหรือลดเงินเพิ่มโดยไม่ต้องมีคำร้องก็ได้
            การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือ แจ้งการประเมิน ถ้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
            ในกรณีบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี เงินได้นิติบุคคลกลางปี โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็น หนังสือ ให้ถือว่าแบบแสดงรายการดังกล่าวเป็นคำร้องตามวรรคหนึ่
            คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือตามวรรค สามหมายความถึง กรณีเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจพบความผิดและได้มีการบันทึกความผิด ไว้ในหนังสือหรือบันทึกข้อความแล้ว

            ข้อ 15 เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มให้ได้เฉพาะกรณี เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า บุคคลที่จะต้องเสียเงินเพิ่มไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี

            ข้อ 16 การลดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนัก งานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ ดังต่อไปนี้
                  (1) กรณีบุคคลที่จะต้องเสียเงินเพิ่มได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระ ภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                        (ก) ถ้าชำระภายใน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
                        (ข) ถ้าชำระภายหลัง 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
                  (2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้เสียร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษ ของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกินเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

            ข้อ 17 การงดหรือลดเงินเพิ่มนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ ให้ กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

            ข้อ 18 คำสั่งกรมสรรพากรที่ถูกยกเลิกโดยคำสั่งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้า ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปสำหรับการจัดเก็บภาษีการค้าที่ต้องชำระอยู่ก่อนหรือในและหลังวันที่ คำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับ

            คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันออกคำสั่งนี้เป็นต้นไป

 

 

สั่ง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-01-2024