อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2541 อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ผู้เดินทางที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วจากการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.1 ไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย
1.2 ไม่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 152) ใช้บังคับ 7 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไป ) 1.3 ไม่เป็นนักบินหรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
1.4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ
1.5 ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
1.6 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศนี้
ข้อ 2 สินค้าที่ผู้เดินทางซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร และมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
2.1 เป็นสินค้าที่นำไปพร้อมกับการเดินทาง
2.2 ไม่เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำออกนอกราชอาณาจักร อาวุธปืน วัตถุ ระเบิด หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน อัญมณีที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ
2.3 มูลค่าการซื้อสินค้าต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 บาท โดยซื้อจากสถาน
ประกอบการแห่งละจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ต่อวัน
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 231)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป) 2.4 เป็นสินค้าที่ต้องนำออกนอกราชอาณาจักรภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 198) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป) ข้อ 3 ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน และมีความประสงค์จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แจ้งต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า พร้อมแสดงหนังสือเดินทาง เพื่อจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ในวันที่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรซื้อสินค้า
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 231)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป) ข้อ 4 ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วซึ่งมีมูลค่าการซื้อสินค้ารวมกันทั้งหมดตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป ต้องนำสินค้าตามข้อ 2 และคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) พร้อมใบกำกับภาษีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในขณะเดินทาง
ออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรประทับรับรองในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) หรือตรวจรับรองคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 233)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป) ในกรณีที่สินค้าที่ผู้เดินทางออกนอกราชอาญาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น อัญมณีที่ประกอบ
ขึ้นเป็นตัวเรือน หรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพาหรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือรวมทั้งกระเป๋าใส่ธนบัตรหรือเหรียญหรือกระเป๋าอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน (ไม่รวมถึงกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ที่มีมูลค่าการซื้อสินค้าแต่ละชิ้นตั้งแต่สี่หมื่นบาทขึ้นไป หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อสินค้าต่อชิ้นตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้ผู้เดินทางออก
นอกราชอาณาจักรแสดงสินค้าดังกล่าว และคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) พร้อมใบกำกับภาษี
ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254)ฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่
1 ธันวาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป)
เมื่อผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรปฏิบัติตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้วให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรขอรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยวิธีการดังนี้
4.1 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสรรพากรหรือ
ตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้ง ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรหรือ
4.2 นำส่งคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ดังกล่าวทางไปรษณีย์ ให้กับ
เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก หรือ
4.3 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 233)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป) ข้อ 5 เมื่อผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ครบถ้วนตามประกาศฉบับนี้ ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หากผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไม่ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข หรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ไม่ครบถ้วน ตามประกาศฉบับนี้สำหรับการซื้อสินค้ารายการใด ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะสินค้ารายการที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ครบถ้วนตามประกาศฉบับนี้
ข้อ 6 ในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งหักค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราที่อธิบดีกำหนดท้ายประกาศนี้ ในกรณีที่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้โดยคืนเป็นเงินสด ตั๋วแลกเงินผ่านทางไปรษณีย์ หรือผ่านระบบการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ในกรณีที่จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องคืนให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีจำนวนเกินกว่า 30,000 บาท ขึ้นไป ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเป็นตั๋วแลกเงินผ่านทางไปรษณีย์ หรือผ่านระบบการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 231)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป) ในกรณีที่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วตามข้อ 4.3 ให้เจ้าพนักงานสรรพากรหรือตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ผ่านช่องทางการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
(ยกเลิกโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254)ฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป) ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป
|