เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 90)

เรื่อง    กำหนดคุณลักษณะและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2541 อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดคุณลักษณะและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

                           "คำขออนุมัติให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ในกรณีที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ หรือยื่นคำขออนุมัติผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในการกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นผ่านกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือยื่นคำขออนุมัติผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร"

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 230)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป)

                           ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิยื่นคำขออนุมัติ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

                           "1.1 เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 209) ใช้บังคับ 12 เมษายน 2559 เป็นต้นไป)

                           1.2 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                           "1.3 เป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร"

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 230)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป)

                ข้อ 2  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 1 แสดงข้อความ "VAT REFUND FOR TOURISTS" ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบการ

                ข้อ 3  เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 1 ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิและมีความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วจากการซื้อสินค้าดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติดังต่อไปนี้

                           3.1 จัดทำใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยระบุเลขที่หนังสือเดินทางของผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ลงในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                            “3.2 จัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและสำเนาคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกำหนด (ภ.พ.10) ให้แก่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยส่งมอบต้นฉบับคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทาง และเก็บรักษาสำเนาคำร้องอีกหนึ่งฉบับไว้ ณ สถานประกอบการ

                                 ในกรณีที่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้ว จากการซื้อสินค้าที่เป็น อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน หรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพาหรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือรวมทั้งกระเป๋าใส่ธนบัตรหรือเหรียญหรือกระเป๋าอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน (ไม่รวมถึงกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ที่มีมูลค่าการซื้อสินค้าแต่ละชิ้นตั้งแต่สี่หมื่นบาทขึ้นไปหรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อสินค้าต่อชิ้นตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้ผู้ประกอบการประทับข้อความ "Item No........ must also be presented to Revenue Officer" ลงในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10)
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 253)ฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป)

                                 แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้คำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ที่กรมสรรพากรจัดพิมพ์ขึ้น หรือแบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ที่ได้จัดทำขึ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้เท่านั้น เว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 230)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป)

                           3.3 จัดทำรายงานการจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร ภายใน 3 วัน นับแต่วันจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

                "ข้อ 4   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 1 ขอรับคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับรายที่อยู่ในการกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ และในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ขอรับคำร้องดังกล่าว เป็นรายสถานประกอบการโดยขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

                           การขอรับคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอต่อสรรพากรพื้นที่ หรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ก่อนวันคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดยแนบสำเนารายงานการจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) ฉบับปัจจุบันประกอบการขอรับคำร้องดังกล่าวด้วย”

(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 230)ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป)

                ข้อ 5  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 1 ต้องเก็บรักษาคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) และรายงานการจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานประกอบการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือรายงานการจัดทำคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่กรณี

                ข้อ 6  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับอนุมัติตามข้อ 1 ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ตามประกาศนี้ อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจเพิกถอนการอนุมัติตามข้อ 1 ได้และห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกเพิกถอนการอนุมัติตามข้อ 1 ยื่นคำขออนุมัติดังกล่าวอีก ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนการอนุมัติ

                ข้อ 7  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 29-11-2023