ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)
เรื่อง กำหนดแบบหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่22) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 72) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2539
ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) รายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
“ข้อ 2/1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ข้อ 2/2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการลงรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรายการสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในรายงานภาษีขายตามข้อ 2/1 ดังนี้
(1) รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ลงรายการดังกล่าวเฉพาะกรณีการลงรายการสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
(2) รายการสถานประกอบการ ให้ลงรายการของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ หรือสาขาที่ .. ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และเป็นสถานประกอบการที่ปรากฏตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น แล้วแต่กรณี
รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตาม (1) และรายการสถานประกอบการตาม (2) ให้ลงรายการ ดังกล่าวสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป และสำหรับใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่อ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ข้อ 2/3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการลงรายการเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรและรายการสถานประกอบการของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียน ในรายงานภาษีซื้อตามข้อ 2/1 ดังนี้
(1) รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ให้ลงรายการดังกล่าวเฉพาะกรณีการลงรายการสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการนั้น แล้วแต่กรณี
(2) รายการสถานประกอบการ ให้ลงรายการของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ หรือสาขาที่ .. ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการนั้น แล้วแต่กรณี
รายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตาม (1) และรายการสถานประกอบการตาม (2) ให้ลงรายการดังกล่าวสำหรับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป และสำหรับใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่อ้างอิงใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 202) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป)
ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า ซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ สามารถจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีรายการและข้อความแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการโรงเลื่อย โรงค้าไม้แปรรูป และกิจการอื่นใดซึ่งต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ โดยให้ถือว่าบัญชีแสดงรายการปริมาณสินค้าซึ่งมีอยู่ ได้มา และจำหน่ายไปเป็นรายวันตามแบบบัญชีซึ่งต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้เป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าของเก่า โดยให้ถือว่าบัญชีแสดงรายการปริมาณสินค้าซึ่งมีอยู่ ได้มา และจำหน่ายไปเป็นรายวันตามแบบบัญชี ซึ่งต้องจัดทำตามกฎหมายว่าการค้าของเก่าเป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ประเภทร้านค้าปลอดอากร ให้ถือว่าบัญชีแยกประเภทสินค้าซึ่งแสดงรายละเอียดของสินค้าทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและหรือของที่ผลิตภายในประเทศ ที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ของที่ขายไป ของที่คงเหลืออยู่ โดยแยกประเภท ชนิดปริมาณของของไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ให้ถือว่ารายงานผลการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ต้องจัดทำตามกฎหมายดังกล่าว เป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าโดยมีการรับประกันสินค้าที่ขายหรือบริการซ่อมสินค้าที่ขาย กรณีมีการชำรุดบกพร่องหรือเพื่อเหตุอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน จัดทำรายงานจ่ายอะไหล่โดยไม่คิดมูลค่าเพื่อใช้ในการประกันสินค้าที่ขายหรือบริการซ่อมสินค้าที่ขายแยกต่างหากจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งโดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 และข้อ 3 สามารถจัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) รายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) และรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแยกออกเป็นแต่ละแผนกของสินค้าหรือบริการ หรือแยกออกเป็นแต่ละประเภท ชนิด ขนาด หรือในลักษณะทำนองเดียวกันของสินค้าหรือบริการก็ได้
การจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถแยกทุกประเภทรายงาน หรือแยกเฉพาะรายงานดังกล่าวบางรายงานก็ได้
ข้อ 5 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้จัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) รายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) และรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันหรือไม่ก็ตาม
ข้อ 6 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว แต่มีหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย หรือร้านค้าประเภทคอนเทนเนอร์ หรือร้านค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายได้ไม่ว่าจะมีล้อเลื่อนหรือไม่ เพื่อขายสินค้าในสถานที่ต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการชั่วคราว เช่น งานนิทรรศการ หรืองานมหกรรม หรือที่ชุมชน หรือตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมิได้ใช้สถานที่หนึ่งที่ใดเป็นสถานที่ขายสินค้าเป็นประจำ ให้จัดทำรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) รายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องแยกตามหน่วยขายก็ได้ แต่ให้จัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแยกออกเป็นแต่ละหน่วยขายต่างหากจากกัน
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าที่มีสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) รายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) และรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่สถานประกอบการใดเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ให้จัดทำเฉพาะรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) และรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ของหน่วยขายดังกล่าวนั้น
ข้อ 7 การลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ดำเนินการดังนี้
(1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับหรือพึงได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรเฉพาะที่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เป็นรายใบกำกับภาษี และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ได้จัดทำใบกำกับภาษีในแต่ละวันตั้งแต่ 100 ฉบับขึ้นไป ของแต่ละสถานประกอบการ และได้จัดให้มีรายงานสรุปการขายประจำวัน ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับตามรายงานสรุปการขายประจำวัน โดยไม่ต้องลงเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้ และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ต้องจัดทำรายงานสรุปการขายประจำวันโดยมีรายการและข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้ และสามารถจัดทำแยกออกเป็นแต่ละแผนกของสินค้าหรือบริการ หรือแยกออกเป็นแต่ละประเภท ชนิด ขนาด หรือในลักษณะทำนองเดียวกันของสินค้าหรือบริการก็ได้
(ก) วัน เดือน ปี
(ข) เลขที่ใบกำกับภาษี เล่มที่/เครื่องที่ (ถ้ามี)
(ค) ชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(ง) มูลค่าสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าสินค้าและหรือบริการให้ชัดแจ้ง
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง มีความประสงค์จัดทำรายงานสรุปการขายประจำวันโดยมีรายการและข้อความแตกต่างจากที่กำหนดไว้ตามวรรคสาม ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
(2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 มาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับ ซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 มาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปนั้น และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อหรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและรายการสินค้าหรือบริการ และต้องแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ โดยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องสัมพันธ์กับมูลค่าสินค้าหรือบริการ
(ข) กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าหรือบริการที่เป็นยอดรวมแต่ละยอดตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่อง เลขที่/เล่มที่ ของใบกำกับภาษี ว่า เล่มที่... เลขที่...ถึงเลขที่...
(ค) กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยไม่ได้ออกเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าหรือบริการที่เป็นยอดรวมแต่ละยอดตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่องเลขที่/เล่มที่ ของใบกำกับภาษี ว่า เลขที่...ถึงเลขที่...
(3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเครื่องบันทึกการเก็บเงินออกรายงานสรุปการขายประจำวันแยกเป็นรายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ให้ลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับ ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยแยกออกเป็นรายเครื่องบันทึกการเก็บเงินพร้อมทั้งระบุเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ในรายงานภาษีขายด้วย และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษี เว้นแต่ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้า หรือชนิดคอมพิวเตอร์ที่ใช้ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นเป็นระบบ POSS (Point of Sale System) จะต้องจัดทำรายงานภาษีขายโดยอัตโนมัติทุกสิ้นวันทำการ
(4) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ แต่มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องให้ดำเนินการดังนี้
(ก) กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นเล่มหรือไม่ได้ออกเป็นเล่มตาม (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่ออีก และให้ลงรายการตาม (1)
(ข) กรณีใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีอย่างย่อและลงรายการตาม (3) แล้ว หากผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ให้ลงรายการตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายใบกำกับภาษีด้วย โดยไม่ต้องระบุมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ หมายเหตุไว้ว่า ออกแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อ เลขที่...
(5) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันให้ลงรายการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณีเว้นแต่การขายน้ำมันของสถานบริการน้ำมัน ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ให้ลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านมิเตอร์หัวจ่ายตามรายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด (ส่วน ก.) ซึ่งต้องจัดทำเป็นรายวันอยู่แล้ว และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด (ส่วน ก.)
(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับหรือพึงได้รับ โดยจัดให้มีเอกสารประกอบการลงรายงานตามประเภทความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องมีปริมาณและมูลค่าสินค้าหรือบริการเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
(ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความรับผิดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทน ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเมื่อมีการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความรับผิดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8)(ง)(จ)(ฉ) และ(ช) หรือมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใด ๆ
(ค) กรณีส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร โดยส่วนราชการได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด และส่งมอบสำเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นหลักฐานลงรายงานภาษีขาย
(7) กรณีผู้ทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน และมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีตามมาตรา 83/5 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาใบกำกับภาษีที่ออกตามมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร มาลงรายการในรายงานภาษีขาย
(8) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่มีลักษณะและเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำค่าตอบแทนดังกล่าวมาลงรายการในรายงานภาษีขาย
(9) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าโดยการส่งออก ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าส่งออกโดยให้ใช้ราคา เอฟ.โอ.บี. ของสินค้า และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
(ก) การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก ให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก แล้วแต่กรณี
การส่งออกสินค้าตามวรรคหนึ่ง ถ้าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่กรมศุลกากรออกใบขนสินค้าขาออก
(ข) การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร ให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่นำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 124) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
(10) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 82/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บหรือใช้คืน ซึ่งเกิดจากใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง สามารถจัดทำรายงานภาษีขายซึ่งลงรายการเฉพาะรายการตามใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้อีก 1 รายงานก็ได้
(11) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหนี้สูญเกิดขึ้นจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และได้มีการจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าวตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญ โดยใช้เอกสารการตัดหนี้สูญทางบัญชีประกอบการลงรายการในรายงานภาษีขาย
ข้อ 8 การลงรายการในรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดเก็บใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพสามิต และเอกสารหลักฐานอื่นประกอบการลงรายงานภาษีซื้อ แยกต่างหากจากเอกสารหลักฐานอื่น โดยให้ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(ก) แยกเป็นรายเดือนภาษีที่ลงรายการในรายงานภาษีซื้อ
(ข) เรียงตามลำดับใบกำกับภาษีที่ได้รับ
(ค) ให้เลขที่กำกับใบสำคัญดังกล่าวเรียงขึ้นใหม่ทางด้านบนขวาของใบสำคัญนั้น ๆ
(2) ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เป็นรายใบกำกับภาษี โดยให้ลงรายการเรียงตามลำดับใบกำกับภาษีที่ได้รับโดยไม่คำนึงว่าใบกำกับภาษีนั้นจะลงวันเดือนปีใด แต่การลงรายการในช่องวันเดือนปีของใบกำกับภาษี ให้ลงวันเดือนปีตามที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับใบกำกับภาษี เว้นแต่ ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมีเหตุจำเป็น ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงมีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 82/3 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ลงรายการในเดือนภาษีที่นำไปถือเป็นภาษีซื้อได้ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะลงรายการวันหนึ่งวันใดในเดือนภาษีนั้นก็ได้ โดยต้องจัดเรียงเอกสารรวมกับใบกำกับภาษีของเดือนภาษีที่ถือเป็นภาษีซื้อ
(3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำเข้าสินค้า และได้รับใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากร ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร และให้ลงรายการโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม (2)
(4) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6แห่งประมวลรัษฎากร ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร และให้ลงรายการโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม (2)
(5) ให้ลงรายการตามใบกำกับภาษีตาม (2) และใบเสร็จรับเงินตาม (3) หรือ (4) เฉพาะรายการภาษีซื้อที่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น
(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ลงรายการ ดังต่อไปนี้
(ก) ลงรายการตามมูลค่าทั้งหมดของสินค้าหรือบริการ และ
(ข) ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
การลงรายการในรายงานตามวรรคหนึ่ง (ก) และ (ข) ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถเพิ่มช่องรายการในรายงานภาษีซื้อ หรือแยกรายงานภาษีซื้อ ออกเป็น 2 รายงานก็ได้ โดยรายงานหนึ่งให้ลงรายการตามใบกำกับภาษีที่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด และอีกรายงานหนึ่งให้ลงรายการตามใบกำกับภาษี ตาม (ก) และ (ข)
(7) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 82/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ลงรายการตามมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บหรือได้รับคืน ซึ่งเกิดจากใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง สามารถจัดทำรายงานภาษีซื้อซึ่งลงรายการเฉพาะรายการตามใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้อีก 1 รายงานก็ได้
ข้อ 9 การลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้ลงรายการตามปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่รับมาหรือจ่ายไปจริง โดยจัดให้มีเอกสารประกอบการลงรายงานเป็นใบสำคัญรับหรือจ่ายสินค้า และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยแยกออกเป็นแต่ละประเภท ชนิด ขนาด หรือในลักษณะทำนองเดียวกันของสินค้าหรือวัตถุดิบก็ได้
การลงรายการตามวรรคหนึ่ง ให้ลงเป็นแต่ละรายการของการรับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ เว้นแต่กรณีที่มีการจัดทำรายงานแสดงรายละเอียดสินค้าหรือวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไปเป็นรายวัน จะลงเป็นยอดรวมของการรับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นรายวันก็ได้
รายงานแสดงรายละเอียดสินค้าหรือวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไปเป็นรายวัน ตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) วัน เดือน ปี
(ข) ปริมาณสินค้าและวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไป
(ค) มูลค่ารวมของสินค้าและวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไป
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งสินค้าที่ขายแต่ละประเภทมีหลายชนิด หลายขนาด และควบคุมปริมาณเป็นหน่วยได้ยาก เช่น อะไหล่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องเขียน สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน หรือสินค้าอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสอง เช่น ลงรายการเป็นกลุ่มของสินค้า ก็ให้กระทำได้
ข้อ 10 การลงรายการในรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เขียนด้วยหมึก หรือใช้วิธีพิมพ์ หรือจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และจะลงรายการเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
การลงรายการโดยใช้วิธีพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง หมายความถึง การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด การพิมพ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปสเปรดชีต (Spreadsheet) เช่น LOTUS หรือ EXCEL หรือโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
การลงรายการโดยการจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งคุณสมบัติของซอฟต์แวร์สำหรับการลงรายการในรายงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งชนิดใด ดังต่อไปนี้
ชนิด ก.
(1) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูล และโอนเข้าบัญชีแยกประเภทแล้ว จะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงตามวิธีการทางบัญชี
(2) เป็นโปรแกรมที่ช่วยไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี
(3) เป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้
(4) เป็นโปรแกรมที่การบันทึกรายการเป็นไปตามระบบบัญชีคู่
ชนิด ข.
(1) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูล และโอนเข้าบัญชีแยกประเภทแล้ว จะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงตามวิธีการทางบัญชี
(2) เป็นโปรแกรมที่ช่วยไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี
(3) เป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้
(4) เป็นโปรแกรมที่การบันทึกรายการเป็นไปตามระบบบัญชีคู่
(5) เป็นโปรแกรมที่มีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานบางระบบใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบขาย ระบบพัสดุ ฯลฯ ระบบซอฟต์แวร์นั้นต้องโอนเข้าระบบบัญชีแยกประเภทได้โดยตรง
ชนิด ค.
(1) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูล และโอนเข้าบัญชีแยกประเภทแล้ว จะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงตามวิธีการทางบัญชี
(2) เป็นโปรแกรมที่ช่วยไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี
(3) เป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึง ข้อมูลได้
(4) เป็นโปรแกรมที่การบันทึกรายการเป็นไปตามระบบบัญชีคู่
(5) เป็นโปรแกรมที่มีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานทุกระบบใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบซอฟต์แวร์นั้นทุกระบบต้องโอนเข้าระบบบัญชีแยกประเภทได้โดยตรง
ชนิด ง.
(1) เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูล และโอนเข้าบัญชีแยกประเภทแล้ว จะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงตามวิธีการทางบัญชี
(2) เป็นโปรแกรมที่ช่วยไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี
(3) เป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้
(4) เป็นโปรแกรมที่การบันทึกรายการเป็นไปตามระบบบัญชีคู่
(5) เป็นโปรแกรมที่มีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานทุกระบบใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบซอฟต์แวร์นั้นทุกระบบต้องโอนเข้าระบบบัญชีแยกประเภทได้โดยตรง
(6) มีการแจ้งรหัสผ่านต่อกรมสรรพากร เพื่อให้สามารถผ่านระบบรักษาความปลอดภัยได้ โดยให้ใส่ซองปิดผนึก ซึ่งกรมสรรพากรจะไม่เปิด เว้นแต่จะเปิดต่อหน้าผู้ประกอบการ
ข้อ 11 ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ตามข้อ 10 ต้องระบุคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ไว้ที่หน้าจอแรก โดยมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้
ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดย................. ซึ่งมีเลขประจำตัว ซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่.............เป็นซอฟต์แวร์เลขที่................... และ เป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด ก. หรือ ชนิด ข.
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นใช้เอง ต้องระบุคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ไว้ที่หน้าจอแรก โดยมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้
ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดย........................และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด ก. หรือชนิด ข. หรือชนิด ค. หรือชนิด ง.
ข้อ 12 ความใน (1) ของมาตรฐานซอฟต์แวร์ชนิด ก ชนิด ข ชนิด ค หรือชนิด ง เป็นโปรแกรมที่เมื่อบันทึกข้อมูลและโอนเข้าบัญชีแยกประเภทแล้ว จะแก้ไขรายการนั้น ๆ โดยไร้ร่องรอยไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงตามวิธีการทางบัญชี โดยจะต้อง
(ก) เมื่อบันทึกข้อมูลแล้วต้องโอนรายการเข้าบัญชีแยกประเภทด้วย และสามารถพิมพ์รายงานจากบัญชีแยกประเภทเพื่อการตรวจสอบได้
(ข) การแก้ไขรายการไม่ให้ใช้วิธีลบทิ้ง หรือล้างรายการออก แต่ให้ใช้วิธีบันทึกรายการปรับปรุงเพิ่มเข้าไป เพื่อแสดงให้เห็นรายการก่อนปรับปรุงและหลังปรับปรุง
(ค) สามารถแสดงรายงานการแก้ไขปรับปรุงรายการโดยอัตโนมัติ และต้องระบุเลขที่หรือที่มาของเอกสารอ้างอิง พร้อมทั้งแสดงวันที่ เวลาที่เกิดรายการ รหัสประจำตัวของผู้ทำรายการแต่ละรายการ จำนวนรายการ และจำนวนเงินที่มีการแก้ไขปรับปรุงด้วย และ
(ง) ปฏิเสธการทำรายการปกปิดหรือซ่อนรายการรายงานการแก้ไขปรับปรุงรายการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ข้อ 13 ความใน (2) ของมาตรฐานซอฟต์แวร์ชนิด ก ชนิด ข ชนิด ค หรือ ชนิด ง เป็นโปรแกรมที่ช่วยไม่ให้หลีกเลี่ยงภาษี โดยจะต้อง
(ก) เขียนขึ้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากร
(ข) ไม่สามารถกำหนดหรือเลือกวิธีการประมวลผลข้อมูลในลักษณะที่ผิดไปจากความเป็นจริงได้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ยอดขายสินค้าชนิดเดียวกันบางรายการนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บางรายการไม่ต้องนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ค) สามารถแสดงยอดรวมและเปรียบเทียบยอด เพื่อตรวจนับความครบถ้วนของข้อมูลขณะทำการประมวลผล
(ง) สามารถตรวจนับจำนวนรายการที่มีอยู่ในแฟ้มข้อมูลว่าอยู่ครบถ้วนหรือไม่ และสามารถสอบยันกับจำนวนรายการที่นำเข้าว่าตรงกันหรือไม่
(จ) กรณีผู้ประกอบการจัดทำงบย่อยหรืองบประกอบ หรืองบการเงินสาขา ต้องสามารถแสดงรายละเอียดของงบย่อยหรืองบประกอบ ซึ่งเป็นที่มาของงบการเงินรวมเป็นรายงานด้วย
(ฉ) ไม่สามารถผ่านรายการขายได้โดยไม่ผ่านรายการภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกัน และ
(ช) หากสามารถบวกกลับรายการท้ายงบการเงิน เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี ต้องมีรายงานซึ่งระบุที่มาของรายการด้วย
ข้อ 14 ความใน (3) ของมาตรฐานซอฟต์แวร์ชนิด ก ชนิด ข ชนิด ค หรือ ชนิด ง เป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้ โดยจะต้อง
(ก) สามารถแสดงภาพการทำงานรวมของระบบ (System Flowchart)ได้
(ข) ให้แสดงระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่หน้าจอ โดยระบุจำนวน และระดับเจ้าหน้าที่ที่สามารถบันทึก อ่าน หรือแก้ไขข้อมูลได้
(ค) โปรแกรมและแฟ้มข้อมูลมีการควบคุมโดยใช้รหัสผ่านและการตั้งรหัสผ่านสำหรับผู้แก้ไข ต้องตั้งเพิ่มแยกต่างหากจากส่วนอื่น
(ง) บันทึกการใช้รหัสผ่านในการทำงานโดยระบุให้ทราบถึง รหัสประจำตัวของผู้ปฏิบัติงาน งานที่ทำ วัน และเวลาที่ปฏิบัติงาน สำหรับรายการการแก้ไขต้องระบุให้ทราบถึงรหัสประจำตัวของผู้ปฏิบัติ จำนวน และรายละเอียดของรายการที่แก้ไขปรับปรุง และ
(จ) ถ้าแฟ้มข้อมูลมีการควบคุมโดยการเข้ารหัสลับ (Encryption)เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูล ถ้ามีการถอดรหัสลับ (Decryption) ต้องบันทึกหลักฐานไว้ทุกครั้งเพื่อการตรวจสอบ
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร