ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 74)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2537 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(1) กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรเขต สำนักงานสรรพากรเขต(สาขา) หรือสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
(2) กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจาก (1) ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรอำเภอ(สาขา) หรือสำนักงานสรรพากรกิ่งอำเภอ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ซึ่งสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ หากไม่มีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ ให้ผู้ประกอบการเลือกสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสำนักงานใหญ่
กรณีผู้ประกอบการใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ซึ่งสถานที่อยู่อาศัยดังกล่าวตั้งอยู่ หากมีสถานที่อยู่อาศัยหลายแห่งและแต่ละแห่งใช้เป็นสถานประกอบการ ให้ผู้ประกอบการเลือกสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสำนักงานใหญ่
ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3 ฉบับ โดยแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมกับแนบเอกสารดังต่อไปนี้
(1) กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ
(2) กรณีผู้ประกอบการเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการในนามคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ พร้อมกับสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือการจัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าว
(3) กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการ ผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการพร้อมกับสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือหลักฐานอื่นที่แสดงฐานะเป็นนิติบุคคล แล้วแต่กรณี
(4) กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร และตัวแทนได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรดังกล่าว ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ พร้อมกับหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นชอบ
(5) การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (4) กรณีมีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ คือ ผู้ประกอบการตาม (1) และผู้มีอำนาจกระทำการแทนตาม (2)(3)(4) และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
(6) กรณีผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (4) ใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้แนบเอกสารและดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) กรณีใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว
(ข) ให้แนบสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านซึ่งแสดงที่ตั้งอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะส่งหนังสือโดยทางไปรษณีย์ได้ หรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง
(ค) ถ้าเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้แนบสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แนบหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ และสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
(7) กรณีสถานที่ตั้งของสถานประกอบการแห่งใดยังไม่มีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้แนบแผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขปพร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการนั้น
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับแนบเอกสารตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบการต้องแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรด้วย
ข้อ 6 ให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แสดงรายการพร้อมทั้งแนบเอกสารตามข้อ 5 ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีรายการและเอกสารแนบถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าพนักงานสรรพากรรับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
กรณีผู้ประกอบการแสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ได้แนบเอกสารตามข้อ 5 หรือแนบเอกสารแต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรรับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แม้ว่าผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้แสดงรายการพร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องครบถ้วน และเจ้าพนักงานสรรพากรได้รับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นกรณีเข้าลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
(1) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการแสดงเอกสารหลักฐานตามข้อ 5 เป็นเท็จ หรือไม่ตรงกับเอกสารของทางราชการ
(2) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ประกอบการเป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง เช่น จากการไต่สวนพบว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นลูกจ้าง พนักงาน แต่ยื่นคำขอจดทะเบียนในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้จัดการ
(3) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีสถานประกอบการจริงตามเอกสารที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการใช้สำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ เว้นแต่กรณีเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
(5) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมิใช่ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่แท้จริง
(6) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการดังกล่าว เคยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน แต่ภายหลังถูกอธิบดีกรมสรรพากรสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยมูลเหตุจากกรณีตาม (1) ถึง (5)
ข้อ 7 ให้เจ้าพนักงานสรรพากรดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
(1) กรณีผู้ประกอบการตามข้อ 1 และข้อ 3 ให้เจ้าพนักงาสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20
(2) กรณีผู้ประกอบการตามข้อ 2 ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.21 แต่ถ้าผู้ประกอบการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20
กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายสถานประกอบการ
ข้อ 8 ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังนี้
(1) วันที่ให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน คือ วันเดือนปีที่เจ้าพนักงานสรรพากรรับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง เว้นแต่กรณีที่เจ้าพนักงานสรรพากรไม่ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเพราะเข้าลักษณะตามข้อ 6 วรรคสาม ถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันเดือนปีที่เจ้าพนักงานสรรพากรรับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ความในวรรคหนึ่ง อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้
(2) วันเริ่มประกอบการ คือ วันเดือนปีที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) วันที่ออกใบทะเบียน คือ วันเดือนปีที่ผู้มีอำนาจอนุมัติลงนามในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งอยู่แล้วในขณะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยระบุเฉพาะสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ มิได้ระบุสถานประกอบการแห่งอื่น ๆ ไว้ในคำขอจดทะเบียนด้วย ให้ถือว่าสถานประกอบการแห่งอื่น ๆ นั้นเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนวันเดือนปีเดียวกันกับสำนักงานใหญ่
ข้อ 9 ผู้มีอำนาจออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้
(1) สรรพากรพื้นที่ สำหรับสถานประกอบการที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสรรพากรพื้นที่
(2) สรรพากรจังหวัด สำหรับสถานประกอบการที่อยู่ในท้องที่จังหวัดนั้น
ข้อ 10 ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร ให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2539 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2539
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร
(ร.จ. ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนที่ 102ง วันที่ 19 ธันวาคม 2539)