เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 73)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีก ที่มีสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกที่มีสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ดังนี้

 

                “ข้อ 1  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกที่มีสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขออนุมัติ

                           (1) คุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

                           (2) รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) ของอุปกรณ์ในแต่ละชุด และจำนวนเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัติ

                           (3) แผนผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน และแผนผังแสดงระบบการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น

                           (4) ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อและสำเนาใบกำกับภาษีอย่างย่อ

                           (5) ตัวอย่างรายงานการขายสินค้าประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง และรายงานต่างๆ ที่ออกจากระบบควบคุมกลางตามข้อ 3 (6) แห่งประกาศนี้

                กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

                กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มีสิทธิยื่นรายการข้อมูลคำขออนุมัติดังกล่าวตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th พร้อมกับอัปโหลด (Upload) เอกสารและรายการตามวรรคหนึ่งประกอบคำขออนุมัติได้อีกวิธีหนึ่ง”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 220) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ.2560 เป็นต้นไป )

 

                ข้อ 2  เครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                           (1) เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นเป็นระบบ POSS เท่านั้น และต้องใช้กระดาษออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ผู้ซื้อสินค้า โดยจะใช้กระดาษขนาดเดียวกันเป็นสำเนาซ้อนกับใบกำกับภาษีตัวจริงก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ซึ่งใช้เป็นสำเนาใบกำกับภาษีไว้ในขณะเดียวกันกับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วย

                                 เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามวรรคหนึ่งจะต้องมีระบบควบคุมกลางที่สามารถออกรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยอัตโนมัติในโปรแกรมเดียวกันทุกสิ้นวันทำการ และต้องต่อเชื่อมเข้ากับระบบการจัดทำรายงานตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะต้องใช้ซอฟต์แวร์ตามมาตรฐาซอฟต์แวร์ของกรมสรรพากร

                           (2) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถคำนวณค่าของเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้กำหนดไว้จากระบบควบคุมกลาง

                           (3) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถบันทึกรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อและสำเนาใบกำกับภาษีอย่างย่อ

                                 (ก) คำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” หรือคำว่า “ TAX INV (ABB) ” หรือคำว่า “ TAX INVOICE (ABB) ”

                                 (ข) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน

                                 (ค) รหัสของสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

                                 (ง) หมายเลขหนังสือเดินทาง (PASSPORT)

                                 (จ) หมายเลขเที่ยวบิน (FLIGHT) ที่ปรากฏใน “ BOARDING PASS ”

                                 (ฉ) หมายเลขลำดับใบกำกับภาษี ซึ่งต้องเรียงลำดับตัวเลขต่อเนื่องกันไปจนสิ้นวันและต่อเนื่องไปในวันต่อ ๆ ไป

                                 (ช) รหัสหรือเครื่องหมายแสดงความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งแยกต่างหากจากสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

                                 (ซ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า โดยชื่อสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้

                                 (ฌ) ราคาสินค้าที่แสดงเป็นหน่วยเงินตราไทย โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

                                 (ญ) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                                 (ฎ) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่กรมสรรพากรกำหนด

                                 (ฏ) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

                                 ในสำเนาใบกำกับภาษีอย่างย่อจะไม่มีชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือข้อความที่ระบุว่าราคาสินค้าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วก็ได้ และสำหรับรายการของสินค้าในสำเนาใบกำกับภาษีอย่างย่อจะบันทึกเป็นรหัสของสินค้าโดยไม่บันทึกเป็นรายการของสินค้าตามใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้รวมทั้งในกรณีที่ไม่สามารถบันทึก “ เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ” และคำว่า “ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ไว้ในสำเนาใบกำกับภาษีอย่างย่อทุกครั้งที่มีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ให้บันทึกไว้อย่างน้อยในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันก็ได้

                           (4) เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องต้องสามารถออกผลสรุปรายงานการขายสินค้าประจำวันได้

 

                ข้อ 3   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกที่มีสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ภายในบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ดังนี้

                           (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องบันทึกอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราต่างประเทศแต่ละสกุลไว้ในระบบควบคุมกลาง

                           (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะบันทึกรายการของสินค้าในใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นรหัส จะต้องมีรหัสดังกล่าวพร้อมทั้งคำแปลทั้งระบบก่อนวันเริ่มใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน พร้อมทั้งรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แยกต่างหากจากสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บไว้ ณ สถานประกอบการทุกแห่งและที่ตั้งของระบบควบคุมกลางด้วย

                           (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแสดงหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีลงในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน โดยเรียงตามลำดับตัวเลขจนหมดทุกหลักก่อน จึงจะย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ ยกเว้นกรณีที่จะทำให้ยอดขายรวมเกินความสามารถของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและทำให้ข้อมูลสูญหาย ก็ให้ออกรายงานล้างยอดสะสมและเริ่มเลขลำดับใหม่ได้ โดยให้หมายเหตุเหตุผลไว้ในม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันด้วย

                           (4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำรายงานสรุปการขายสินค้าประจำวันจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อยเกี่ยวกับมูลค่าของสินค้าที่ขาย จำนวนใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกในแต่ละวัน และสรุปรายละเอียดการรับชำระเงิน

                           (5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำสรุปรายงานการล้างยอดขายสินค้าที่ออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินทุกครั้ง

                           (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำรายงานจากระบบควบคุมกลางทุกสิ้นวันทำการ ดังนี้

                                 (ก) รายงานสรุปการขายสินค้าประจำวันของเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องที่มีรายการอย่างน้อยตามข้อ 3(4) แห่งประกาศนี้ โดยสรุปเป็นรายสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย และสรุปเป็นยอดรวมของสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยทั้งหมดของผู้ประกอบการจดทะเบียน

                                 (ข) รายงานสรุปรายละเอียดสินค้าที่ขาย ซึ่งแสดงรายละเอียดอย่างน้อยประกอบด้วยประเภทของสินค้า ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าที่ขาย โดยแยกเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างหากจากกัน

                                       รายงานตาม (ก) และ (ข) ให้แสดงยอดสะสมเป็นรายเดือน(Month to Date) และแสดงยอดสะสมเป็นรายปี (Year to Date) ด้วย โดยต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อยประกอบด้วยประเภทของสินค้า ปริมาณของสินค้าที่ขายแยกตามประเภทของสินค้า มูลค่าของสินค้า จำนวนเงินที่ได้รับทั้งสิ้น และรายละเอียดเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศแต่ละสกุลที่ได้รับ โดยรายงานสะสมยอดขายเป็นรายเดือน และรายปี ให้บันทึกไว้ที่ระบบควบคุมกลางเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และสามารถจัดพิมพ์ได้ทุกสิ้นวันทำการ หรือภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน หรือเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์

                                 (ค) รายงานการขายประจำวัน (Sales Report) โดยมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                                       (1) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ

                                       (2) รหัสของหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย

                                       (3) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่กรมสรรพากรกำหนด

                                       (4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี

                                       (5) ชื่อผู้ซื้อสินค้า

                                       (6) หมายเลขเที่ยวบินที่ผู้ซื้อสินค้าที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

                                       (7) หมายเลขหนังสือเดินทางของผู้ซื้อสินค้าที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

                                       (8) ชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้า โดยอาจแสดงเป็นรหัสก็ได้

                                       (9) ปริมาณของสินค้า

                                       (10) ราคาของสินค้า

                                       (11) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

                                 (ง) รายงานภาษีขาย ซึ่งแสดงรายละเอียดประกอบด้วยชื่อผู้ประกอบการ ชื่อสถานประกอบการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร วันเดือนปี ที่ออกใบกำกับภาษี เลขที่/เล่มที่ของใบกำกับภาษีโดยเรียงลำดับตามเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินในแต่ละสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย มูลค่าของสินค้าที่ขาย ซึ่งต้องแยกเป็นมูลค่าสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างหากจากกัน และจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

                                       การจัดทำรายงานภาษีขายตามวรรคหนึ่ง ให้สรุปเป็นรายเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง และสามารถจัดพิมพ์ได้ทุกสิ้นวันทำการ หรือภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน หรือเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์

                           (7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปติดเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องบนเครื่องที่ได้รับอนุมัติให้ใช้บันทึกการเก็บเงิน หรือในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบให้ติดเอง ต้องติดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว

                                 “หากเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำตัวเครื่องดังกล่าว ถูกเคลื่อนย้าย ถูกทำลาย สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ระงับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว และให้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำร้องขอรับเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องจากสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยตั้งอยู่ทันที”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 141) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

                                 “กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำร้องขอรับเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องจากสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นคำร้องขอรับเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องจากผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 220) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ.2560 เป็นต้นไป )

                           (8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเก็บม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) และรายงานต่างๆ ไว้ ณ สถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย เป็นเวลา 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้

                           (9) ห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินระบบ POSS ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยมือ ยกเว้นกรณีที่เครื่องขัดข้องใช้การไม่ได้ เช่น เครื่องเสียหาย หรือไฟฟ้าดับ โดยจะต้องประทับตราคำว่า “ เครื่องขัดข้อง ”ไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกด้วยมือ

                           “(10) การจำหน่ายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน การทำลาย การระงับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน การเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะเป็น

การเคลื่อนย้ายภายในสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย หรือออกจากสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยขายที่มีลักษณะเป็นร้านค้าย่อยผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแจ้งให้สรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทราบตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติ (แบบ ภ.พ.06.1) ภายใน 7 วันก่อนวันจำหน่าย ทำลาย ระงับ หรือเคลื่อนย้าย เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยก็ให้แจ้งภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

                                   กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้แจ้งต่อสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้แจ้งต่อผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 220) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป )

                ข้อ 4  ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2539 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2539

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022