ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และ กำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 วรรคสี่ มาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และกฎกระทรวงฉบับที่ 198 (พ.ศ.2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่น ตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2538 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบกำกับภาษีของการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ และให้เรียกว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิตั้งตัวแทนออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร และให้เรียกตัวแทนดังกล่าว ว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทน
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องแต่งตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนตามกฎกระทรวงฉบับที่ 198 (พ.ศ.2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่น ตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2538 รับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องแจ้งการแต่งตั้ง หรือการยกเลิกตัวแทนต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการตั้งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาการตั้งตัวแทน หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันยกเลิกสัญญาการตั้งตัวแทน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 140) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป)
กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้แจ้งต่อผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 219) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )
(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องทำสัญญาการตั้งตัวแทน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3
(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นในการออกใบกำกับภาษีและในการจัดทำรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดทำรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องใช้ซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ของกรมสรรพากร
(6) หากผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการไม่มีหรือมิได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นในการออกใบกำกับภาษีและในการจัดทำรายงานตาม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการมีสิทธิตั้งตัวแทนออกใบกำกับภาษีได้เฉพาะการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันเท่านั้น และห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการดังกล่าวออกใบกำกับภาษีสำหรับกิจการให้บริการประเภทที่ได้ทำสัญญาตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันไว้แล้ว
(7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องไม่ตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
(8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ต้องไม่ตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนรายอื่นรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ และออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ สำหรับสินค้าหรือบริการประเภทที่ได้ทำสัญญาตั้งให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนรายใด ดำเนินการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทนแล้ว เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 81) ใช้บังคับ 25 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไป)
(9) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องจัดทำและเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานภาษีขาย กรณีตั้งตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทน สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มิใช่การขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังนี้
(ก) ต้องจัดพิมพ์สำเนาใบกำกับภาษีตามข้อมูลที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนได้ส่งผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ (Transfer File) ลงบนกระดาษให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับข้อมูล หรือจัดเก็บสำเนาใบกำกับภาษีที่ได้รับจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนดังกล่าวไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลซึ่งสามารถเรียกพิมพ์ได้ทันทีเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์
(ข) ต้องจัดพิมพ์รายงานการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนได้จัดทำและส่งผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ (Transfer File) มาให้ โดยให้จัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และให้ถือเป็นรายงานภาษีขายแยกจากรายงานภาษีขายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและออกใบกำกับภาษีเอง โดยให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการจัดพิมพ์รายงานดังกล่าวทุกสิ้นวันทำการ หรือภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน หรือเมื่อเจ้าพนักงานรรพากรสั่งให้พิมพ์
(ค) ต้องเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีตาม (ก) และรายงานภาษีขายตาม (ข) ไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้วหลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้
(10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องจัดทำและเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานภาษีขาย กรณีตั้งตัวแทนรับชำระเงินค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทน สำหรับการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ดังนี้
(ก) ให้ใช้บันทึกรายการประจำวัน (Sale Journal Report by Event Code) ซึ่งเป็นสำเนาใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนจัดพิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนและส่งมอบให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ เป็นสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ แยกจากรายงานภาษีขายส่วนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการออกใบกำกับภาษีเอง
(ข) ต้องเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนส่งมอบให้ไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้
(11) กรณีรอบวันทำการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต่างจากรอบวันทำการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนให้ใช้รอบวันทำการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเป็นเกณฑ์
ข้อ 2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้รับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องทำสัญญาการตั้งตัวแทน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นในการออกใบกำกับภาษี การจัดทำรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดทำบัญชีแยกประเภทต่าง ๆ และการจัดทำงบการเงิน ในกรณีใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดทำรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องใช้ซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ของกรมสรรพากร
(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษี โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกกรณี เว้นแต่หลักเกณฑ์ในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในประกาศฉบับนี้ การยื่นคำขออนุมัติให้ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) ผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนซึ่งประสงค์จะยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มีสิทธิยื่นรายการข้อมูลคำขออนุมัติดังกล่าวตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้อีกวิธีหนึ่ง
( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 219) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )
(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่สามารถออกใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้เมื่อผู้ชำระเงินเรียกร้อง
(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องจัดทำและส่งข้อมูลการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานต่าง ๆ กรณีที่ออกใบกำกับภาษีแทนสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มิใช่การขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังนี้
(ก) ต้องจัดพิมพ์สำเนาใบกำกับภาษีบนม้วนกระดาษต่อเนื่องที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องเรียงลำดับต่อเนื่องกันไปตามการใช้งานของเครื่อง บันทึกการเก็บเงิน และส่งข้อมูลสำเนาใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละรายผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ (Transfer File) ให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการภายใน 1 วันทำการนับแต่สิ้นวันทำการแต่ละวัน
(ข) ต้องจัดทำรายงานการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ดังนี้
รายงานสรุปการขายประจำวัน ให้จัดทำรายงานการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละราย โดยให้จัดทำทั้งในส่วนที่เป็นของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและในส่วนที่เป็นของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนทุกสิ้นวันทำการ โดยให้จัดทำเป็นรายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
รายงานการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละราย ให้จัดทำแยกเป็นรายผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดทุกสิ้นวันทำการ และส่งรายงานผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ (Transfer File) ให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการภายใน 1 วันทำการนับแต่สิ้นวันทำการแต่ละวัน และให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนสามารถจัดพิมพ์รายงานนั้นทุกสิ้นวันทำการ หรือภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน หรือเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์
(ค) ต้องเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานต่าง ๆ ไว้ ณ สถานประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีหรือรายงานนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้
(7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องจัดทำและส่งข้อมูลการรับชำระเงินจากการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน และการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ และเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีและรายงานต่าง ๆ กรณีที่ออกใบกำกับภาษีแทนสำหรับการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ดังนี้
(ก) ต้องจัดพิมพ์สำเนาใบกำกับภาษี (Daily Master Journal)แทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการทุกรายในแต่ละวันทำการ บนม้วนกระดาษต่อเนื่องที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง หรือบนกระดาษต่อเนื่องที่ออกจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง โดยให้เรียงลำดับต่อกันไปตามการใช้งานของเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง หรือให้เรียงลำดับต่อกันไปตามการใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางแล้วแต่กรณีเพื่อเป็นหลักฐานของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเอง
(ข) ต้องจัดทำรายงานประจำวันด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางดังนี้
รายงานสรุปการรับชำระเงินจากการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละรายซึ่งระบุรายละเอียดแยกตามรอบการแสดงแต่ละรอบ
รายงานสรุปการรับชำระเงินจากการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันแยกเป็นแต่ละสถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทน
(ค) ต้องจัดทำรายงานก่อนเริ่มจำหน่ายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางดังนี้
รายงานการจัดสรรที่นั่งแบ่งตามส่วน (Section) และราคา (Price Category)
รายงานเกี่ยวกับราคาขายและราคาหลังหักส่วนลดของที่นั่งแต่ละประเภท
(ง) ต้องจัดทำรายงานหลังจบการแสดงแต่ละรอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง โดยให้จัดพิมพ์บนกระดาษแยกเป็นรายเดือนภาษีตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง ส่งให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการภายใน 3 วันทำการนับแต่วันสิ้นเดือนแต่ละเดือน และหรือนับแต่วันสิ้นสุดการแสดงแต่ละเรื่อง ดังนี้
รายงานการขายตามผังที่นั่งตั้งแต่เริ่มถึงจบการแสดง (Map Report)
รายงานสรุปผลการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละครหรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (Settlement Report)
รายงานการรับตั๋วหรือบัตรคืน หรือตั๋วหรือบัตรเสียหาย (Return Report)
บันทึกรายการประจำวัน (Sales Journal Report by Event Code) ตั้งแต่เริ่มต้นถึงจบการแสดงแต่ละรอบ ซึ่งถือเป็นสำเนาใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละราย และให้ใช้เป็นรายงานภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการด้วย
(จ) ต้องเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีตาม (ก) ไว้ ณ สถานประกอบการที่ออกใบกำกับภาษี กรณีจัดพิมพ์สำเนาใบกำกับภาษีบนม้วนกระดาษต่อเนื่องที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง หรือจัดเก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่กรณีจัดพิมพ์สำเนาใบกำกับภาษีบนกระดาษต่อเนื่องที่ออกจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง และเก็บรักษารายงานต่าง ๆ และสำเนาใบกำกับภาษีตาม
(ง) ไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้
(8) การบันทึกยอดขายสะสมไว้ในเครื่องบันทึกการเก็บเงิน กรณีการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการและการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ที่มิใช่การขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้บันทึกยอดขายสะสมไว้ในเครื่องบันทึกการเก็บเงินจนตัวเลขหมดทุกหลักก่อน จึงจะย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ ยกเว้นกรณีที่จะทำให้ยอดขายรวมเกินความสามารถของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและทำให้ข้อมูลสูญหาย ก็ให้ออกรายงานล้างยอดสะสมและเริ่มบันทึกยอดขายใหม่ได้ โดยให้หมายเหตุเหตุผลไว้ในม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันด้วย
(9) การบันทึกยอดขายสะสมไว้ในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง กรณีการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ให้บันทึกยอดขายสะสมตามรอบการแสดงของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละรายไว้ในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางซึ่งควบคุมการขายตั๋วหรือบัตรนั้น และให้ล้างยอดสะสมได้เมื่อจัดทำรายงานตาม (7)(ง) แล้ว
(10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องมีรหัสของสถานประกอบการที่เป็นสาขา และรหัสของพนักงานผู้ออกใบกำกับภาษีพร้อมคำแปล เก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกสถานประกอบการ โดยจะเก็บไว้ในกระดาษหรือในสื่อบันทึกข้อมูล ซึ่งสามารถเรียกพิมพ์ได้ทันทีเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์
ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องทำสัญญาการตั้งตัวแทนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องทำสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีและใบรับแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
(2) สัญญาการตั้งตัวแทนต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และจะตั้งตัวแทนเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภทก็ได้
(3) สัญญาการตั้งตัวแทนต้องกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนจะต้องกระทำให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการตามประกาศนี้
(4) สัญญาการตั้งตัวแทนต้องกำหนดรายการดังต่อไปนี้ในสัญญาด้วย และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเก็บรักษารายละเอียดตามรายการดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกสถานประกอบการ โดยจะจัดเก็บไว้ในกระดาษหรือในสื่อบันทึกข้อมูล ซึ่งสามารถเรียกพิมพ์ได้ทันทีเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์ เว้นแต่กรณีที่เป็นการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนจะจัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลาง ซึ่งสามารถเรียกพิมพ์ได้ทันทีเมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรสั่งให้พิมพ์ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนก็ได้
(ก) ชื่อ ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทน
(ข) รหัสของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละรายพร้อมคำแปล
(ค) รหัสประเภทของสินค้าหรือบริการที่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนรับชำระเงินและออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ และกรณีการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันแทน ต้องมีรหัสของรอบการแสดงพร้อมทั้งรหัสของส่วนลดที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการได้ลดให้แก่ลูกค้า พร้อมคำแปล
(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการต้องส่งมอบสำเนาสัญญาการตั้งตัวแทน หรือการยกเลิกการตั้งตัวแทนต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการตั้งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาการตั้งตัวแทน หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันยกเลิกสัญญาการตั้งตัวแทน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 140) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป)
กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ส่งมอบต่อผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 219) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )
(6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องเก็บรักษาสัญญาการตั้งตัวแทนไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตลอดเวลาที่สัญญามีผลใช้บังคับ และเก็บรักษาต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันสิ้นสุดสัญญา
ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนออกใบกำกับภาษีและหรือใบรับแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการนำเอกสารที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร มาชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องตีพิมพ์ข้อความที่แสดงว่าได้รับชำระเงินแล้วลงบนเอกสารดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการรับชำระเงินแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ และส่งมอบส่วนที่เป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ พร้อมทั้งเก็บรักษาสำเนาใบกำกับภาษีไว้เพื่อส่งมอบแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
(2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนออกใบกำกับภาษีสำหรับการรับชำระเงินแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการที่มิใช่การขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรีละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า ใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือ TAX INVOICE (ABB) หรือ TAX INV (ABB)
(ข) ชื่อ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรหัสของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
(ค) ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทน กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนใช้สถานประกอบการหลายแห่งในการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ จะต้องระบุชื่อหรือชื่อย่อและรหัสของสถานประกอบการที่เป็นสาขาไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
(ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
(จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือบริการโดยชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าหรือบริการจะออกเป็นรหัสก็ได้
(ฉ) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการโดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(ช) วัน เดือน ปี และเวลาที่ออกใบกำกับภาษี
(ซ) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(ฌ) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
โดยให้จัดทำหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเป็นสองชุด ชุดแรกให้เรียงลำดับต่อกันไปตามการใช้งานของเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง และชุดที่สองให้เรียงลำดับต่อกันไปแยกตามรายผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่ละรายในเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง
กรณีที่ออกใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย จะต้องมีรหัสหรือเครื่องหมายหรือข้อความที่แสดงให้เห็นว่าหมายเลขลำดับใดเป็นหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายตั๋วหรือบัตรดูภาพยนตร์ ดนตรี ละคร หรือกิจการที่มีลักษณะทำนองเดียวกันแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) คำว่า ใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือ TAX INVOICE (ABB) หรือ TAX INV (ABB)
(ข) ชื่อ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรหัสของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ
(ค) ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทน กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนใช้สถานประกอบการหลายแห่งในการออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการ จะต้องระบุชื่อหรือชื่อย่อและรหัสของสถานประกอบการที่เป็นสาขาไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
(ง) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
(จ) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณและมูลค่าของบริการ โดยชื่อ ชนิด หรือประเภทของบริการจะออกเป็นรหัสก็ได้
(ฉ) ราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(ช) วัน เดือน ปี และเวลาที่ออกใบกำกับภาษี
(ซ) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(ฌ) รหัสของรอบการแสดงแต่ละรอบ
(ญ) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
โดยให้จัดทำหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเรียงลำดับต่อกันไปตามการใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางในแต่ละวันทำการ
กรณีที่ออกใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย จะต้องมีรหัสหรือเครื่องหมายหรือข้อความที่แสดงให้เห็นว่าหมายเลขลำดับใดเป็นหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
การบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่กรมสรรพากรกำหนดลงในใบกำกับภาษี ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนออกตั๋วหรือบัตรโดยใช้ข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นที่ระบบกลางแยกต่างหากจากข้อมูลของเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องที่ใช้ออกใบกำกับภาษี จะใช้เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่กำหนดไว้จากระบบกลางของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเลคทรอนิคส์อื่นและรหัสของสถานประกอบการที่เป็นสาขาซึ่งออกใบกำกับภาษี พร้อมทั้งรหัสของพนักงานผู้ออกใบกำกับภาษีแทนก็ได้
กรณีการขายตั๋วหรือบัตรล่วงหน้าให้ความรับผิดในการเสียภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการเกิดขึ้น ณ วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนขายตั๋วหรือบัตรนั้น
การแสดงราคาตั๋วหรือบัตร ให้ระบุราคาขายหลังหักส่วนลดได้ แต่ต้องมีรหัสของส่วนลดกำกับไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
(4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษีตาม (2) หรือ (3) ไปแล้ว ให้เรียกใบกำกับภาษีนั้นคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และออกใบกำกับภาษีที่มีรายการเช่นเดียวกับรายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรให้ใหม่ โดยจะต้องออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินเครื่องเดิมและออกให้ภายในวันเดียวกันเท่านั้น
(5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนที่ประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการโดยให้มีรายการเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ ให้ขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร และห้ามออกใบกำกับภาษีดังกล่าวก่อนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
(6) อธิบดีกรมสรรพากรอาจกำหนดให้รายการในใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนออกแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการมีรายการเป็นอย่างอื่นเพิ่มเติมเป็นการทั่วไป หรือเฉพาะรายผู้ประกอบการจดทะเบียนก็ได้
ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเริ่มออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการได้ต่อเมื่อ
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการได้แจ้งการแต่งตั้งตัวแทนและได้ส่งมอบสำเนาสัญญาการตั้งตัวแทนต่อเจ้าพนักงานสรรพากรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแล้ว และ
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ 6 ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร