เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ดังนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 38) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

 

                ข้อ 2  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ต่ออธิบดีกรมสรรพากร

                            คำขออนุมัติให้ยื่นตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขออนุมัติ

                            (1) คุณสมบัติโดยย่อของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

                            (2) รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) และจำนวนเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัต

                            (3) แผนผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

                            (4) ในกรณีที่มีการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ให้แสดงแผนผังระบบการต่อเชื่อมดังกล่าวด้วย

                            (5) ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และตัวอย่างรายงานการขายสินค้าหรือ การให้บริการประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

                            (6) ตัวอย่างใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จากเครื่องบันทึกการเก็บเงินเครื่องเดียวกัน

 

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 218) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )

 

                ข้อ 3  เครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                            “(1) เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

                                   (ก) ชนิดไฟฟ้า ECR (Electronic Cash Register) ซึ่งบันทึกโปรแกรมการขายสินค้าหรือการให้บริการไว้ในความจำชนิดถาวร แบบ ROM (Read Only Memory) หรือแบบ EPROM (Erasable Programmable ROM) เป็นส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษของผู้ขายเครื่องบันทึกการเก็บเงินในการแก้ไขโปรแกรมการขายสินค้าหรือการให้บริการ และต้องมิใช่เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้า ECR ที่มีหัวพิมพ์ระบบ Drum Matrix ซึ่งได้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2538 เป็นต้นไป หรือ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 62) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป)

                                   (ข) ชนิดคอมพิวเตอร์ ซึ่งบันทึกโปรแกรมการขายสินค้าหรือการให้บริการไว้ในความจำชนิดชั่วคราวแบบ RAM (Random Access Memory) เป็นส่วนใหญ่ และมีช่องใส่สื่อบันทึกข้อมูล เช่น Diskette เพื่อบันทึกรายละเอียดของสินค้าหรือบริการและสามารถเขียนโปรแกรมควบคุมการขายสินค้าหรือการให้บริการได้ หรือในกรณีที่ไม่มีช่องใส่สื่อบันทึกข้อมูล เช่น Diskette ต้องสามารถสั่งเขียนโปรแกรมการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรือบันทึกรายการการขายหรือการให้บริการจากเครื่องควบคุมกลางได้

                            (2) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องใช้กระดาษออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และจะใช้กระดาษขนาดเดียวกันเป็นสำเนาซ้อนกับใบกำกับภาษีตัวจริงก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ไว้ ซึ่งจะใช้เป็นสำเนาใบกำกับภาษีแทนกระดาษซ้อนใบกำกับภาษีก็ได้

                            (3) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องสามารถบันทึกคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ไว้ในกระดาษใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วย หรืออาจจะบันทึกคำว่า “TAX INV(ABB)” ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินสามารถบันทึกได้ 12 หลัก หรือคำว่า “TAX INVOICE(ABB)” ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินสามารถบันทึกได้ 16 หลัก แทนก็ได้

                            (4) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

                            (5) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ไว้ในสำเนาใบกำกับภาษี โดยอย่างน้อยต้องสามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องไว้ในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวัน โดยสำเนาใบกำกับภาษีจะไม่มีชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือข้อความที่ระบุว่าราคาสินค้าหรือบริการได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วก็ได้และสำหรับรายการของสินค้าหรือบริการในสำเนาใบกำกับภาษี จะบันทึกเป็นรหัสของสินค้าหรือบริการ โดยไม่บันทึกเป็นรายการของสินค้าหรือบริการตามใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้ ส่วนคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” จะใช้วิธีตีพิมพ์หรือประทับตราไว้ในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันก็ได้

                                  ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินไม่สามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องในกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันได้ ก็ให้ใช้วิธีบันทึกเลขรหัสประจำเครื่อง ณ ตำแหน่งซึ่งใช้บันทึกรายการมูลค่าการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยอย่างน้อยต้องบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องไว้ในตอนต้นของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันก่อนเริ่มทำการขายสินค้าหรือให้บริการ และในตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องดังกล่าวหลังจากทำการขายสินค้าหรือให้บริการรายสุดท้ายและรวมยอดขายสินค้าหรือให้บริการแล้ว และให้แนบใบกำกับภาษีที่ออกในลักษณะนี้ติดกับหัวม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ

                            (6) เครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่องต้องสามารถออกผลสรุปรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการประจำวันได้

 

                ข้อ 4  เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้าหรือชนิดคอมพิวเตอร์ ตามข้อ 3(1) จะใช้บันทึกการเก็บเงินโดยตัวเองโดยไม่ต้องต่อเชื่อม หรือจะใช้ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นเป็นระบบ POSS (Point of Sale System) ก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 59) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 5  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ดังนี้

                            (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะบันทึกรายการของสินค้าหรือบริการในใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นรหัส จะต้องมีรหัสดังกล่าวพร้อมทั้งคำแปลก่อนวันเริ่มใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน พร้อมทั้งรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว และในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่อเชื่อมกับระบบกลางที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการที่ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน จะต้องมีรหัสทั้งระบบเก็บไว้ ณ สถานประกอบการและที่ตั้งของระบบกลางด้วย

                            (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปติดเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่อง บนเครื่องที่ได้รับอนุมัติให้ใช้บันทึกการเก็บเงิน หรือในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบให้ติดเอง ต้องติดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว

                            หากเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องดังกล่าวถูกเคลื่อนย้าย ถูกทำลาย สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ระงับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำร้องขอรับเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องจากอธิบดีกรมสรรพากรทันที

                            (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแสดงหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีลงในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน โดยเรียงตามลำดับตัวเลขจนหมดทุกหลักก่อน จึงจะย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ ยกเว้นกรณีที่จะทำให้ยอดขายรวมเกินความสามารถของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและทำให้ข้อมูลสูญหาย ก็ให้ออกรายงานการล้างยอดสะสมและเริ่มเลขลำดับใหม่ได้ โดยให้หมายเหตุเหตุผลไว้ในม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันด้วย

                            (4) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องบันทึกรายการการขายสินค้าหรือการให้บริการในกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวัน ในขณะเดียวกับการออกใบกำกับภาษี และหากเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2537 หรือเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่บันทึกเวลาได้ ก็ต้องบันทึกเวลาที่ออกใบกำกับภาษีนั้นไว้ในใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อและในกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันด้วย

                            (5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องบันทึกคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ไว้ในกระดาษใบกำกับภาษีอย่างย่อขณะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วย หรืออาจจะบันทึกคำว่า “TAX INV(ABB)” ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินสามารถบันทึกได้ 12 หลัก หรือคำว่า “TAX INVOICE(ABB)” ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินสามารถบันทึกได้ 16 หลัก แทนก็ได้

                            (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแสดงเลขรหัสประจำเครื่องที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อ

                            (7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแสดงเลขรหัสประจำเครื่องที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ไว้ในสำเนาใบกำกับภาษี โดยอย่างน้อยต้องสามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องไว้ในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่อง ซึ่งบันทึกรายการประจำวัน โดยสำเนาใบกำกับภาษีจะไม่มีชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือข้อความที่ระบุว่าราคาสินค้าหรือบริการได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วก็ได้ และสำหรับรายการของสินค้าหรือบริการในสำเนาใบกำกับภาษี จะบันทึกเป็นรหัสของสินค้าหรือบริการ โดยไม่บันทึกเป็นรายการของสินค้าหรือบริการตามใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้ ส่วนคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” จะใช้วิธีตีพิมพ์หรือประทับตราไว้ในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันก็ได้

                                  ในกรณีที่เครื่องบันทึกการเก็บเงินไม่สามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องในกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันได้ ก็ให้ใช้วิธีบันทึกเลขรหัสประจำเครื่อง ณ ตำแหน่งซึ่งใช้บันทึกรายการมูลค่าการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยอย่างน้อยต้องบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องไว้ในตอนต้นของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันก่อนเริ่มทำการขายสินค้าหรือให้บริการ และในตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องดังกล่าวหลังจากทำการขายสินค้าหรือให้บริการรายสุดท้ายและรวมยอดขายสินค้าหรือให้บริการแล้ว และให้แนบใบกำกับภาษีที่ออกในลักษณะนี้ติดกับหัวม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ

                            (8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องออกผลสรุปรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินแต่ละเครื่อง

                            (9) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำสรุปรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ

                            (10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำสรุปรายงานการล้างยอดขายสินค้าหรือการให้บริการที่ออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินทุกครั้ง

                            (11) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเก็บม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ไว้ ณ สถานประกอบการเป็นเวลา 5 ปี โดยหากเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากนั้นจะเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลใดก็ได้

                            (12) ห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินระบบ POSS ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยมือ ยกเว้นกรณีที่เครื่องขัดข้องใช้การไม่ได้ เช่น เครื่องเสียหรือไฟฟ้าดับ โดยจะต้องประทับตราคำว่า “เครื่องขัดข้อง” ไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกด้วยมือด้วย

                           “(13) การจำหน่ายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน การทำลาย การเคลื่อนย้ายออกจากสถานประกอบการโดยมิใช่เพื่อการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา หรือกรณีที่มิได้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องแจ้งให้สรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทราบตามแบบแจ้ง การเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติ (แบบ ภ.พ.06.1) ภายใน 7 วันก่อนวันจำหน่าย ทำลาย หรือเคลื่อนย้าย เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยก็ให้แจ้งภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

                           กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้แจ้งสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ทราบเป็นรายสถานประกอบการ และกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้แจ้งผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ทราบ”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 218) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )

 

                ข้อ 6  หากผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับระบบกลางเป็นระบบ POSS ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องกำหนดให้ระบบกลางดังกล่าวทำรายงานภาษีขายตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยอัตโนมัติในโปรแกรมเดียวกันทุกสิ้นวันทำการด้วย

 

              “ข้อ 7  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อจะต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

              กรณีตามวรรคหนึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่โดยต้องยื่นคำขออนุมัติเป็นรายสถานประกอบการ และกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นคำขออนุมัติผ่านผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ

               กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มีสิทธิยื่นรายการข้อมูลคำขออนุมัติดังกล่าวตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ.06) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th พร้อมกับอัปโหลด (Upload) เอกสารและรายการตามข้อ 2 ประกอบคำขออนุมัติได้อีกวีธีหนึ่ง”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 218) ใช้บังคับ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป )

 

 

                ข้อ 8   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินทั้งสำหรับออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จากเครื่องบันทึกการเก็บเงินเครื่องเดียวกันผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ทุกกรณีโดยจะต้องระบุคุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและโปรแกรม รวมทั้งหลักการและวิธีการที่จะดำเนินการโดยละเอียด และห้ามใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินบันทึกรายการใด ๆ ในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จนกว่าจะได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จากเครื่องบันทึกการเก็บเงินเครื่องเดียวกันได้ด้วย

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 173) ใช้บังคับ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป )

 

                ข้อ 9  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่มีลักษณะอื่นหรือไม่เป็นไปตามประกาศนี้ ให้แยกคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามประกาศนี้ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่หรือวางเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ และห้ามใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวจนกว่าจะได้รับอนุมัติ

 

                ข้อ 10  อธิบดีกรมสรรพากรอาจกำหนดเงื่อนไขการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพิ่มเติมเป็นการทั่วไป หรือเฉพาะรายผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วย

 

                ข้อ 11   ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 38) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ให้ยังคงใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวได้ต่อไป จนถึงวันที่ได้รับอนุมัติหรือไม่อนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศฉบับนี้ ซึ่งต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2536

 

                ข้อ 12  ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร




เอกสารแนบ (1) แบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.06)

เอกสารแนบ (2) หนังสืออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามข้อ 9 (ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536)

เอกสารแนบ (3) แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติ (ภ.พ.06.1)

 

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022