เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)

เรื่อง    กำหนดลักษณะและวิธีการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวและกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ตามลักษณะและวิธีการดังต่อไปนี้มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว และกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวมีกำหนดเวลาในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวได้ โดยให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ

                            “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทยและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีกำหนดเวลาในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวได้ โดยให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 112) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ใช้บังคับ 8 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 2  ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรตามข้อ 1 หมายถึงผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย

                            สำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทยตามวรรคหนึ่งหมายความว่า

                            (1) มีสำนักงานในประเทศไทยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง

                            (2) มีการประกอบธุรกิจอย่างอื่นนอกจากการรับจ้างทำของในประเทศไทยเป็นประจำ เช่น การซื้อขายสินค้า หรือ

                            (3) มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อลูกจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 3  ผู้ประกอบการตามข้อ 1 ต้องเข้ามาดำเนินการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

                            สัญญาขายสินค้าหรือให้บริการตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผู้ประกอบการต้องส่งมอบสัญญาต่อกรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากต่อมาประสงค์จะขายสินค้าหรือให้บริการเพิ่มเติมจากสัญญาที่ได้ทำไว้หรือมีการขายสินค้าหรือให้บริการกับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่สัญญาเดิม ผู้ประกอบการต้องจดแจ้งสัญญาเพิ่มเติมตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการเพิ่มเติมสัญญาหรือนับแต่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการกับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่สัญญา ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

 

                ข้อ 4  การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ต้องเป็นการยื่นจดทะเบียนที่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น

 

                ข้อ 5  การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                “ข้อ 6  ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามแบบที่อธิบดีกำหนดเป็นวันที่เริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทยและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราวกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งให้วันที่เริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นอย่างอื่นก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 112) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ใช้บังคับ 8 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 7  ให้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวด้วย และเมื่อระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง ให้ถือว่าการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสิ้นสุดลงทันที หากผู้ประกอบการประสงค์จะขยายเวลาการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาก่อนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสิ้นสุดลง

 

                ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2536 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022