เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

เรื่อง    การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ไว้ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 14) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534

                ข้อ 2  ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                          “(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 71) ใช้บังคับ 4 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป)

                                “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 88) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป)

                          (2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร

                          (3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

                          (4) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

                                “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเนื่องมาจาก

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 79) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป)

                               “(ก) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่กระทำกับลูกหนี้ของสถาบันการเงิน โดยได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569

                                 (ข) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่กระทำกับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม และเป็นหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569

                                (เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 244)ฯ)

                                “(ค) การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 79) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป)

                                “(ง) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่ได้ควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 330) พ.ศ.2541”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 84) ใช้บังคับ 17 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป)

 

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 155) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป) -->

                               “(จ) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่ได้โอนกิจการบางส่วนระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 516) พ.ศ. 2554”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 184) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป)

 

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 179) ใช้บังคับ 20 กันยายน พ.ศ. 2553) -->

                                “(ฉ) การแปรรูปกิจการของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 98) ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไป)

                                “(ช) การแปรรูปกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 109) ใช้บังคับ 1 กันยายน 2543 เป็นต้นไป)

                                “(ซ) การเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 121) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป)

                               “(ฌ) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่กระทำกับลูกหนื้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของสถาบันการเงิน โดยได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และ ได้กระทำภายในวันที่ 1 มกราคม พ . ศ . 2548 ถึงวันที่ 31 ธั นวาคม พ.ศ. 2549

                                (ญ) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่กระทำกับลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของเจ้าหนี้อื่น โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม และได้กระทำภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 168) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป)

                                “(ฎ) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่กระทำกับลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย โดยได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ เฉพาะการขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น หรือนำอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ได้กระทำภายในวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

                                 (ฏ) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่กระทำกับลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยของเจ้าหนี้อื่นโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม และได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ เฉพาะการขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น หรือนำอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ได้กระทำภายในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

                                 (ฐ) การโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 721) พ.ศ. 2564 และได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

                                 (ฑ) การขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 753) พ.ศ. 2565 และได้กระทำตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 250)ฯ)

                                 (ฒ) การโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการร่วมทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ ๒) ณ บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป” (เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 252)ฯ)

ใน (ฎ) และ (ฏ) ของวรรคสอง

                                “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                                (1) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

                                (2) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

                                (3) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย

                                (4) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                                (5) บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

                                (6) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

                                (7) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                                “เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยและได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

                                “ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัย” หมายความว่า ลูกหนี้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

                                 “ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยของเจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า ลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยของสถาบันการเงินด้วย และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ที่ประสบอุทกภัยของเจ้าหนี้อื่นด้วย”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 192) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556)

                                “ใน (ก) และ (ข) ของวรรคสอง

                                สถาบันการเงิน หมายความว่า

                                (1) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

                                (2) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

                                (3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                                (4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                                เจ้าหนี้อื่น หมายความว่า

                                (1) เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน

                                (2) เจ้าหนี้อื่นนอกจาก (1) ที่ได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

                                บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน หมายความว่า บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

                                (1) บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย

                                (2) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย

                                (3) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย

                                (4) บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับซึ่งเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย

                                (5) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

                                (6) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง

                                (7) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

                                (8) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

                                (9) บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินอื่นที่เข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

                                บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หมายความว่า บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

                                ลูกหนี้ ให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย

                                (เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 244)ฯ)

                            (5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(1) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

                            (6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร

                            (7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย

                            (8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร

                            (9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อ 3(2) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535

                            “(10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”

( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.46/2537 )

                            (11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง

                                    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง

                            (12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 50) ใช้บังคับ 1 เมษายน 2537 เป็นต้นไป)

                            ”ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 134) ใช้บังคับ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 3  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันออกประกาศนี้ เว้นแต่ ข้อ 2(5) และ (6) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-10-2023