ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 42)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นอากรแสตมป์เกี่ยวกับกิจการซื้อหรือ>ขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6(34) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 393) พ.ศ. 2544 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นอากรแสตมป์เกี่ยวกับกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ประกอบกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนหรือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลประกอบกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน และต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เป็นการกระทำกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้
(1.1) คู่สัญญาที่เป็นได้ทั้งด้านผู้ขายหลักทรัพย์ (ผู้กู้) และผู้ซื้อหลักทรัพย์ (ผู้ให้กู้)
(ก) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ข) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(ค) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน และบริษัท หลักทรัพย์ เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเองหรือเพื่อการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(จ) บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย
(ฉ) บริษัทมหาชนจำกัดนอกจากบริษัทตาม (ข) - (จ)
(ช) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ซ) บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
(ฌ) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
(ญ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(ฎ) กองทุนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ฏ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ฐ) กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนประกันสังคม
(ฑ) นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(ฒ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ
(1.2) คู่สัญญาที่เป็นผู้ขายหลักทรัพย์ (ผู้กู้) ได้อย่างเดียวเท่านั้น ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (1.1)
(2) ต้องมีสัญญาขายหรือซื้อคืน (Repurchase Agreement) เป็น ลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อหลักทรัพย์ และเป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ยอมรับ
(3) ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ขายหลักทรัพย์สัญญาจะซื้อคืนหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน ในจำนวนที่เทียบเท่ากับที่ขายให้ผู้ซื้อหลักทรัพย์เมื่อครบกำหนดซื้อคืนตามสัญญา หรือวันที่คู่สัญญาทวงถามในราคาตามวิธีการคำนวณที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ขายหลักทรัพย์จนถึงวันที่ซื้อคืนหลักทรัพย์ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หากมีการนำหลักทรัพย์ประเภทเดียวกับที่นำมาทำสัญญาขายหรือซื้อคืน มาเพิ่มหรือมีการส่งคืนหลักทรัพย์ดังกล่าวอันเนื่องมาจากมูลค่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามวิธีการที่กำหนดในสัญญา ให้ถือว่าหลักทรัพย์ที่นำมาเพิ่มหรือหลักทรัพย์ที่เหลืออยู่เป็นหลักทรัพย์ที่ผู้ขายหลักทรัพย์จะซื้อคืน ตามวรรคหนึ่งด้วย
(4) ในกรณีที่มีการใช้สิทธิเพิ่มทุน ลดทุน ที่ทำให้หลักทรัพย์นั้นมีจำนวนหรือมูลค่าเปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนสภาพไป ผู้ขายหลักทรัพย์จะซื้อคืนหลักทรัพย์ที่เทียบเท่าจากผู้ซื้อหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในระหว่างที่มีการขายหลักทรัพย์ตามสัญญาขายหรือซื้อคืนและผู้ขาย หลักทรัพย์ยังไม่ได้ซื้อคืนหลักทรัพย์ตามสัญญา หากผู้ออกหลักทรัพย์ที่มีการนำมาทำสัญญาขายหรือซื้อคืนมีการจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ที่เกิดจากการถือครองหลักทรัพย์ดังกล่าว ผู้ซื้อหลักทรัพย์ต้องจ่ายคืนผลประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์
ข้อ 3 ผู้ขายหลักทรัพย์ที่กระทำกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนต้องปฏิบัติดังนี้
(1) ต้องไม่นำมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ซื้อคืนในจำนวนที่เท่ากับส่วนเกินมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ มารวมเป็นมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ซื้อคืนหรือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(2) ต้องไม่นำมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ซื้อคืนส่วนที่เกินจากมูลค่าของ หลักทรัพย์ที่ได้ขายไป มารวมเป็นมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ซื้อคืน แต่ให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
อธิบดีกรมสรรพากร