เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29)

เรื่อง   กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารลักษณะ 28. (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

 

-----------------------

 

                           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 และมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศดังนี้

 

                           “ข้อ 1  ให้ตราสารใบรับสำหรับการขายฝาก หรือโอนกรรมสิทธิ์ล้อเลื่อนหรือรถซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อนหรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เฉพาะที่มีการออกใบรับในวันรับจดทะเบียนหรือก่อนวันรับจดทะเบียนไม่เกินสิบห้าวัน และยังไม่ได้เสียอากรโดยการปิดแสตมป์อากรในใบรับดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเป็นตราสารลักษณะ 28. (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 ห่งประมวลรัษฎากรปิด แสตมป์บริบูรณ์โดยวิธีชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์”

 

                           ข้อ 2  ให้ผู้ออกใบรับตามข้อ 1 ชำระอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ผู้รับจดทะเบียนก่อนหรือในวันที่มีการรับจดทะเบียนดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับชำระไว้นั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของทางราชการ

 

                           ข้อ 3  ตราสารดังกล่าวถือว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์ก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ได้บันทึกข้อความไว้ในตราสารนั้นว่า “ได้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน.......................บาทแล้วตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่.........เลขที่..........ลงวันที่.....................” แล้วลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์และวันเดือนปีที่บันทึกข้อความดังกล่าว

 

                           ข้อ 4  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2531

 

บัณฑิต บุณยะปานะ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

 

(ร.จ. เล่ม 105 ตอนที่ 117 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2531)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022