เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/22
วันที่: 5 มกราคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(8) และมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:           นาย ก. และพี่ชายได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินเมื่อเดือนพฤษภาคม2545 ในราคา 690,000 บาท โดยได้กู้ยืมเงินจากธนาคารฯ ซึ่งตามเงื่อนไขของธนาคารฯ กำหนดไว้ว่า การถือกรรมสิทธิ์ต้องโอนกรรมสิทธิ์เป็นของผู้กู้ทุกคน ยกเว้นผู้กู้ที่เป็นคู่สมรส บิดา มารดา บุตร พี่น้อง หรือเป็นผู้เช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติ ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงมีชื่อนาย ก. และพี่ชายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม นาย ก. จึงขอทราบว่า
          1. หากในเดือนมิถุนายน 2550 นาย ก. ได้ทำรีไฟแนนซ์ โดยไถ่ถอนจำนองกับธนาคารฯ และให้สำนักงานที่ดินเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นชื่อของนาย ก. นาย ก. และพี่ชายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
          2. ในปี 2549 พี่ชายของนาย ก. ไม่มีเงินได้ นาย ก. มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมฝ่ายเดี่ยวเต็มจำนวนโดยไม่ต้องเฉลี่ยค่าลดหย่อนได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:
          1. กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ
          
          นาย ก. และพี่ชายได้ร่วมกันกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินกับธนาคารฯเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 โดยมิได้มีการแบ่งหรือกำหนดส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ว่าของใคร ตอนใด เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดให้ชัดเจน กรณีจึงถือว่าเป็นเจ้าของรวมกันและมีส่วนแบ่งเท่ากัน ตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากในเดือนมิถุนายน 2550 นาย ก. ได้รีไฟแนนซ์โดยการไถ่ถอนจำนอง และสำนักงานที่ดินจะเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นชื่อของนาย ก. แต่เพียงผู้เดียว การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้แก่นาย ก. ถือเป็นขายอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่342) พ.ศ. 2541 พี่ชายนาย ก. ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
          
          2. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          
          เนื่องจากการขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมที่ดินดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งค้าหากำไร เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร พี่ชายนาย ก. มีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรถ้าพี่ชายนาย ก. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้แล้ว ตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากพี่ชายนาย ก. เลือกนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร พี่ชายนาย ก. สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามจำนวนปีที่ถือครองของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 165) พ.ศ. 2523 เว้นแต่พี่ชายนาย ก. จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้
          3. กรณีตาม2.ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินให้หักลดหย่อนและได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ ตามข้อ 2(7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้นตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เลขตู้: 70/34710

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020