เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22)

เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ

 

------------------------------------

 

                           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 และมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศดังต่อไปนี้

 

                           ข้อ 1  ให้ยกเลิก

                                      (1) ประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 16) เรื่องกำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการเปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารเช็ค ลงวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2520

                                      (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 17)ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2520

                                      (3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 18)ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520

                                      (4) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2523

 

                           ข้อ 2  ในประกาศนี้

                                      “ตราสาร” หมายความว่า ตราสารที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินตามประกาศนี้

                                      "ธนาคาร" หมายความว่า ธนาคารหรือสาขาของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการธนาคารนั้น ๆ

 

                           ข้อ 3  ให้กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ตามมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับตราสารแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                                      “(1) ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงิน เฉพาะที่ธนาคารประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งจ่ายตามลักษณะแห่งตราสาร9.(1) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ยตามลักษณะแห่งรัษฎากร 13. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์”

                                      (2) เช็คที่ออกในราชอาณาจักรตามลักษณะแห่งตราสาร 12. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

                                      (3) เช็คสำหรับผู้เดินทางที่ออกหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ตามลักษณะแห่งตราสาร 15. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

 

                           ข้อ 4  วิธีเสียอากรเป็นตัวเงิน

                                      “(1) สำหรับตราสารตามข้อ 3 (1) ให้ธนาคารผู้สั่งจ่ายหรือผู้รับฝากแล้วแต่กรณีชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์”

                                      (2) สำหรับตราสารตามข้อ 3 (2) หรือ (3) ให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนแรกชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อธนาคาร

                                      ในกรณีตราสารตามข้อ 3 ที่ธนาคารเป็นผู้ออก ให้ธนาคารชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

 

                           ข้อ 5  ให้ธนาคารเป็นผู้รับชำระเงินค่าอากรจากผู้ที่ต้องเสียอากรตามข้อ 4 (2) ระบุข้อความในตราสารนั้นว่า “ชำระอากรแล้ว” ก่อนจ่ายตราสารให้ผู้ที่ต้องเสียอากร.ให้ธนาคารระบุข้อความในตราสารตามข้อ 3 ว่า “ชำระอากรแล้ว” ก่อนจ่ายตราสาร

 

                           "ข้อ 6   เงินค่าอากรที่ต้องชำระตามข้อ 4 และเงินค่าอากรที่รับชำระตาม ข้อ 5 วรรคหนึ่ง ให้ธนาคารนำไปยื่นขอชำระและชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่ธนาคารตั้งอยู่ โดยใช้แบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และให้ชำระเดือนละ 2 งวด คือ

                                      (1) งวดแรก ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ของเดือน ให้นำไปยื่นชำระภายในวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน

                                      (2) งวดที่สอง ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงิน ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันสุดท้ายของเดือน ให้นำไปยื่นชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป"

 ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 44) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

 

                           ข้อ 7  ถ้าธนาคารมีความประสงค์จะขอชำระค่าอากรเป็นตัวเงินล่วงหน้าก่อนจ่ายตราสารตามข้อ 4 ให้ชำระล่วงหน้าได้ ณ สถานที่ดังกล่าวในข้อ 6 โดยใช้แบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และไม่ต้องยื่นชำระเป็นเดือนละ 2 งวด ตามที่กำหนดในข้อ 6 อีก

 

                           ข้อ 8  เมื่อธนาคารได้นำเงินค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินไว้จากผู้ที่ต้องเสียอากร ไปชำระ ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาตามข้อ 6 หรือข้อ 7 เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ถือว่าตราสารตามรายการในแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินของธนาคารได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว

 

                           ข้อ 9  ให้ธนาคารทำทะเบียนคุมตราสารตามข้อ 3 (1) โดยแสดงหมายเลขประจำเล่ม เลขที่ (มีสำเนาติดเล่มไว้) ที่มีอยู่ ได้มา และจ่ายไปสำหรับตราสารข้อ 3 (2) และ (3) ให้ธนาคารทำทะเบียนคุม โดยแสดงหมายเลขเช็คที่มีอยู่ จ่ายไป และแสดงหมายเลขเช็คที่ได้เสียอากรแสตมป์แล้ว หรือแสดงหมายเลขเช็คที่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์พร้อมทั้งแสดงรายชื่อผู้ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์

 

                           ข้อ 10  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป

 

 

ประกาศ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2527

 

 

วิทย์ ตันตยกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

(ร.จ. เล่ม 101 ตอนที่ 96 วันที่ 26 กรกฎาคม 2527)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022