เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/พ./209
วันที่: 31 มกราคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อตามน้ำหนัก ข้อหารือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

:               บริษัท ก. ประกอบกิจการโรงพยาบาลและประกอบกิจการอื่นๆ เช่น ให้บริการซักรีดเสื้อผ้า ให้บริการโทรศัพท์และการจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาล ร้อยละ 98 ของรายได้ทั้งหมด และมีรายได้จากการประกอบกิจการอื่นๆ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งหมด บริษัทฯ มีสถานประกอบการ 2 แห่ง คือโรงพยาบาล ข. และ โรงพยาบาล ค. ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่โรงพยาบาล ด. จะมีแผนกซักรีดรวมอยู่ด้วย ทำหน้าที่ซักรีดเสื้อผ้าที่ใช้ในการประกอบกิจการของโรงพยาบาลทั้งสองแห่งพร้อมทั้งรับบริการซักรีด เสื้อผ้าจากบุคคลภายนอกด้วย โดยใช้เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่จำนวน 4 เครื่อง มิได้แยกเครื่องซักผ้า และโรงซักรีดออกจากกัน บริษัทฯ ได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการซักรีดเสื้อผ้าทั้งสองประเภท ดังนี้
              1. การซักผ้าแต่ละครั้งมีการชั่งน้ำหนักผ้าทุกครั้ง เนื่องจากโปรแกรมของเครื่องซักผ้าทุกเครื่อง จะคำนวณปริมาณกระแสไฟฟ้า น้ำประปา ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้จากน้ำหนักของผ้าที่ซัก ในแต่ละครั้ง โดยเครื่องซักผ้าแต่ละเครื่องจะมีช่องใส่ผ้าแยกออกเป็น 2-3 ช่อง เวลาซักจะแยกผ้าที่ใช้ ในกิจการโรงพยาบาล และผ้าที่ให้บริการแก่บุคคลภายนอกออกจากกัน โดยไม่ใส่ในช่องซักช่องเดียวกัน มีการจดบันทึกเป็นรายครั้งมีการสรุปเป็นรายวันและรายเดือนตามน้ำหนักและประเภทของผ้า
              2. บริษัทฯ แยกย่อยมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ใช้ในโรงซักรีดออกจากมิเตอร์รวมของบริษัทฯ เพื่อความสะดวกในการคำนวณปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานซักรีดทั้งหมด และเมื่อคำนวณ ปริมาณกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ใช้ในโรงงานซักรีดได้แล้ว บริษัทฯ จะนำมาคำนวณเฉลี่ยปริมาณ กระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ใช้สำหรับการซักรีดเสื้อผ้าของแต่ละประเภท โดยใช้น้ำหนักของผ้า เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
              3. วัตถุดิบที่ใช้ในการซักรีด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และอื่นๆ เนื่องจากบริษัทฯ จะซื้อ สินค้าดังกล่าวในจำนวนมากและซื้อได้ในราคาถูกแล้วนำมาเก็บรวมไว้ใน Stock เดียวกัน โดยมิได้ แยกออกเป็นสัดส่วนสำหรับการซักผ้าของแต่ละประเภท และมีการเบิกใช้ร่วมกัน แต่บริษัทฯ จะ ตรวจสอบการใช้วัตถุดิบทั้งหมดทุกสิ้นเดือน โดยคำนวณหาสัดส่วนปริมาณการใช้วัตถุดิบสำหรับ การซักผ้าของแต่ละประเภทตามน้ำหนักของผ้าที่ซักในแต่ละเดือนเพื่อแยกค่าใช้จ่ายสำหรับการซักรีด เสื้อผ้าของแต่ละประเภท บริษัทฯ นำภาษีซื้อเฉพาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการซักรีดดังกล่าวมาเฉลี่ย ตามน้ำหนักผ้าที่ซักรีดเพื่อคำนวณหาภาษีซื้อส่วนที่เกิดจากการให้บริการซักรีดแก่บุคคลภายนอก อันเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนำภาษีซื้อดังกล่าวซึ่งเฉลี่ยได้ประมาณ ร้อยละ 50-60 มาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยบริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อด้วยวิธีดังกล่าวมาตั้งแต่ ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ จึงขอให้พิจารณาอนุมัติ ดังนี้
              1. ขออนุมัติใช้น้ำหนักผ้าเป็นเกณฑ์ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ
              2. ขออนุมัติใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวย้อนหลังตั้งแต่ปี 2545

แนววินิจฉัย:              1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการและมีรายได้ของปีที่ผ่านมาแล้ว หากมีภาษีซื้อ ที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการซึ่งนำไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็น ภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 2(3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 กล่าวคือ ผู้ประกอบการต้องเฉลี่ยภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการตาม ส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการโดยมีสิทธิเลือกเฉลี่ยภาษีซื้อได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1. เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีซื้อตามที่ได้เฉลี่ยไว้โดยไม่ต้อง ทำการปรับปรุงภาษีซื้อในภายหลังอีก วิธีที่ 2. เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการทั้งสองประเภท และ เมื่อสิ้นปีสามารถปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการ ทั้งสองประเภท
              2. อย่างไรก็ดี ตามข้อ 3(1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ ที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่จะไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ โดยในกรณีรายได้ ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ รายได้ทั้งสิ้นของกิจการผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายได้ โดยไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ใน 1 และเมื่อผู้ประกอบการได้เลือกปฏิบัติตามวิธีนี้แล้ว ก็ต้องถือปฏิบัติตลอดไป จนกว่าส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ หรือผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ จากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้
              3. กรณีบริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการทั้งสองประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หากบริษัทฯ ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการ ของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าสามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อเกิดจาก สินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นภาษีซื้อ ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นๆ ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดีหากบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้ อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด บริษัทฯ ต้องใช้หลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวใน 1 และ 2 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่บริษัทฯ จะขอใช้หลักเกณฑ์อื่นในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ซึ่ง ไม่ใช่การเฉลี่ยภาษีซื้อตามที่กล่าวใน 1 และ 2 จึงไม่สามารถให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามที่บริษัทฯ ร้องขอได้
เลขตู้: 70/34752

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020