เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.06)/148 |
วันที่ | : 24 มกราคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนบุตร ข้อหารือ สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : นาย อ. จดทะเบียนหย่ากับนาง น. ในปี พ.ศ. 2547 และแม้บันทึกหลังทะเบียนหย่าระบุว่าให้บุตร อยู่กับ น. เมื่อกรณีตามข้อเท็จจริงนาย อ. เป็นผู้ส่งเงินให้นาง น. เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 20,000 บาท ตามเอกสารการรับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรของนาง น. จึงเป็นกรณีที่บุตรอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู ตามความเป็นจริงของทั้งนาย อ. และนาง น. ซึ่งเป็นบิดาและมารดา นาย อ. และนาง น. จึงมีสิทธิหักลดหย่อน บุตรได้ฝ่ายละ 15,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และยังมีสิทธิหักลดหย่อนเพื่อการศึกษา ของบุตรได้อีกฝ่ายละ 2,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวบิดามารดาอุปการะ เลี้ยงดูบุตรตามความเป็นจริงจะต้องแสดงหลักฐานใดประกอบ |
แนววินิจฉัย | : 1. เอกสารการรับเงินของนาง น. ซึ่งมีใจความว่า ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจากนาย อ. ปีภาษีใด ถือเป็น หลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า นาย อ. ได้อุปการะเลี้ยงดูบุตร นาย อ.ฯ จึงมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรตามมาตรา 47(1)(ค) และมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีนั้น 2. เอกสารหรือหลักฐานที่บิดามารดาส่งหรือรับเงินหรือโอนเงินหรือจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ซึ่งระบุให้บุตรหรือบุคคลที่ดูแลบุตรเป็นผู้รับแทน และนำมาพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่โดยเชื่อได้ว่ามีการอุปการะเลี้ยงดูบุตรจริงในปีภาษีใด ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่จัดทำเอง หรือเอกสารซึ่งไปรษณีย์ ธนาคาร หรือหน่วยงานที่ให้บริการในลักษณะทำนองเดียวกันเป็นผู้ออก บิดามารดามีสิทธิ หักลดหย่อนบุตรตามมาตรา 47(1)(ค) และมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักฐานดังกล่าวในปีภาษีนั้น |
เลขตู้ | : 70/34759 |