เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2244
วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2550
เรื่อง:ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขนส่ง และขนถ่ายสินค้าและอุปกรณ์
ข้อกฎหมาย:มาตรา 80 มาตรา 81(1)(ณ) มาตรา 81/3 มาตรา 82/3 มาตรา 89/1 มาตรา 90/4(3) มาตรา 90/4(7) มาตรา 40(5) มาตรา 70 มาตรา 77/1(10) และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

               บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งและขนถ่าย เครื่องกล เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ทุกประเภท ภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยใช้รถเทรลเลอร์และรถเครน รวมทั้งการขนส่งโดยใช้เรือ มีลักษณะการให้บริการ ดังต่อไปนี้
                              (1) รับจ้างขนส่งสิ่งของ โดยรับขนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งภายในประเทศตามที่ผู้ว่าจ้าง ได้ตกลงตามสัญญาจ้าง
                              (2) รับจ้างขน ย้าย ลาก ยกส่งของขึ้นจากเรือไปลงรถยนต์ หรือขนย้ายจากรถยนต์ไปลงเรือ ตามที่ผู้ว่าจ้างได้ตกลงตามสัญญาจ้าง
                              (3) การรับจ้างดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาเครื่องขนย้ายอุปกรณ์การขนส่งและพนักงาน
               บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               1. การประกอบกิจการดังกล่าวถือเป็นกิจการขนส่งหรือไม่ ถ้าเป็นการขนส่ง เมื่อบริษัทฯ จด ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว บริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และบริษัทฯ จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม
่                2. กรณี บริษัทฯ ได้ขอยืมอุปกรณ์จากบริษัทในประเทศสิงคโปร์ เช่น รถเครนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยบริษัทฯ ได้ตกลงจ่ายผลตอบแทนการใช้อุปกรณ์ เป็นค่าเช่าให้กับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ การจ่าย ค่าเช่าอุปกรณ์ดังกล่าวต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และอยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ ในอัตราเท่าไร

แนววินิจฉัย:               1. บริษัทฯ รับจ้างขนส่งสินค้าหรือสิ่งของโดยรับขนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่ได้มีการให้ บริการอื่นใดอีกในการรับขนดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับ การจ่ายเงินได้ตามสัญญารายหนึ่งๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ตามข้อ 12/4 และข้อ 12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 และเนื่องจาก เป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร บริษัทฯจึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวล รัษฎากร และไม่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลให้บริษัทฯ ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้ามาตั้งแต่ เริ่มประกอบกิจการและภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายไปเมื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และมีผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ได้นำใบกำกับภาษี ที่ออกโดยบริษัทฯ ไปใช้ขอคืนภาษีหรือขอเครดิตภาษีต้องรับผิดทางแพ่ง ตามมาตรา 89(4) และมาตรา89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 90/4(3) และมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากบริษัทฯ มิได้ประกอบกิจการ ประเภทอื่น นอกจากการประกอบกิจการขนส่ง ให้บริษัทฯ ไปติดต่อกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่จังหวัดที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เพื่อดำเนินการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป
               2. บริษัทฯ จ่ายเงินค่าเช่าอุปกรณ์ให้บริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวล รัษฎากร แต่เนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากผู้ให้เช่ามิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย และ ไม่มีสถานประกอบการถาวรอยู่ในประเทศไทย บริษัทผู้ให้เช่าในประเทศสิงคโปร์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 วรรคแรก แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ให้แก่บริษัทต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็น การให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกรณีผู้ประกอบการได้ให้บริการในต่างประเทศ และมีการ ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสีย โดยใช้แบบแสดงรายการ ภ.พ. 36
เลขตู้: 70/34793

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020