เลขที่หนังสือ | : กค 0706/2585 |
วันที่ | : 2 มีนาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 อัฎฐ และมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : 1. นาย ก. ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 001 เพื่อสร้างตึกแถวให้เช่ากับนาย ข. (สัญญาเช่ามีกำหนด สามสิบปี โดยสัญญาเช่ากำหนดให้กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของผู้ให้เช่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532 นาย ก. ได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ให้แก่นาง ค. ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีค่าตอบแทน 2. ในปี 2542 นาง ค. ได้แบ่งแยกโฉนดเลขที่ 001 เป็นโฉนดเลขที่ 002 และแบ่งแยกอีกครั้งเป็น 4 โฉนดคือ โฉนดเลขที่ 1 ถึง 4 (แต่ละโฉนดมีตึกแถวตั้งอยู่) และได้ทำการขายที่ดินที่แบ่งแยกโฉนดตามรายละเอียดดังนี้ 2.1 โฉนดเลขที่ 1 ขายให้กับนางสาว A และนางสาว Bเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ซึ่ง เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและรายได้ส่วนท้องถิ่นไว้แล้ว 2.2 โฉนดเลขที่ 2 ขายให้กับนาง C และนาย D เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2543 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดิน ได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและรายได้ส่วนท้องถิ่นไว้แล้ว 2.3 โฉนดเลขที่ 4 ขายให้กับนาง E และนาย F เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2543 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดิน ได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและรายได้ส่วนท้องถิ่นไว้แล้ว |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี นาง ค. ได้รับที่ดินแปลงดังกล่าวจากบิดาในปี 2532 ต่อมาในปี 2542 ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น 4 แปลง และในปี 2543 ได้ขายไปจำนวน 3 แปลง โดยบนที่ดินดังกล่าวมีตึกแถวของผู้เช่าที่ดินปลูกสร้างอยู่บนที่ดินแต่ละแปลงตามสภาพเนื้อที่ของตึกแถวแต่ละคูหาอยู่แล้ว การขายอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ขายไปตามสภาพเดิมตามที่ได้รับโอนมา หากนาง ค. มิได้มีการจัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่นหรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าวเมื่อได้กระทำภายหลังจากห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 2. หากการขายที่ดินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้นาง ค. มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ การที่นาง ค. ยังไม่ได้ชำระค่าอากรแสตมป์ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ถือว่านาง ค. ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีจึงมีภาระที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทต่อทุก 200 บาท หรือเศษของร้อยบาทของจำนวนเงินตามใบรับและเงินเพิ่มอากรอีก 5 เท่าจำนวนอากรหรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ จึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการชำระค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้นาง ค. ไปชำระอากร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งขยายกำหนดเวลาการชำระอากร โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด |
เลขตู้ | :70/34810 |