เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./4805
วันที่: 15 พฤษภาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79 มาตรา 79/3 และมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         นาง พ.ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าตัวแทนขายประกันชีวิต บริษัท อ. นาง พ.มีเงินได้ค่านายหน้าที่ได้รับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2549 เป็นเงินจำนวน 1,719,736 บาท ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 และในวันที่ 12 ธันวาคม 2549 นาง พ.จะได้รับค่านายหน้าจำนวนเงิน 102,014.57 บาท และจำนวน 37,257.02 บาท แต่บริษัทฯ ระงับการจ่ายเงินค่านายหน้าทั้ง 2 เดือนดังกล่าว เนื่องจากต้องรอตรวจสอบก่อน เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้แจ้งให้นาง พ.ไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นาง พ.จึงได้ไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และได้รับแจ้งว่า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีรายได้ที่ได้รับจริงถึง 1,800,000 บาทต่อปี ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 นาง พ.ได้รับชำระเงินค่านายหน้าทั้งสองเดือนโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร นาง พ.จึงขอทราบว่า กรณีดังกล่าวจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
แนววินิจฉัย:         หากค่าตอบแทนซึ่งเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี นาง พ.ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 และมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร เกณฑ์การคำนวณวันที่มูลค่าของฐานภาษีสำหรับการให้บริการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี หรือไม่ ต้องถือมูลค่าของฐานภาษีในวันที่ได้รับชำระค่าบริการซึ่งเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีนาง พ.ถูกระงับการจ่ายค่านายหน้าไว้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 และนาง พ.ได้รับชำระค่านายหน้าโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 มูลค่าของฐานภาษีในปีภาษี 2549 ยังไม่ถึง 1,800,000 บาทต่อปี จึงไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 70/34913

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020