เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./4495 |
วันที่ | : 2 พฤษภาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายน้ำผลไม้สดคั้น |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : นาง ก. ทำงานในบริษัท ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร จึงขอทราบว่า กรณีดังต่อไปนี้จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 1. กรณีบริษัทซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากบริษัทผู้ผลิต เช่น องุ่น ส้ม แครอท บล็อกโครี่ มาคั้นเป็นน้ำผลไม้สด ด้วยเครื่องคั้นน้ำผลไม้ หรือคั้นด้วยมือโดยไม่ได้ปรุงแต่งสี รสชาติ ไม่ใส่สารกันบูด หลังจากนั้นนำน้ำผลไม้บรรจุขวดพลาสติกใสปิดฝา (เหมือนขวดน้ำดื่ม) ขนาดต่างๆ ติดฉลากชื่อสินค้า และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา เก็บรักษาไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิเพื่อรอการส่งไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ในประเทศ สินค้ามีอายุ 3-5 วันนับแต่วันผลิต 2. กรณีตาม1 ถ้าการบรรจุขวด ไม่มีการติดฉลากชื่อสินค้า 3. กรณีบริษัทจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแจกน้ำผลไม้จากสินค้าเพื่อขาย ซึ่งสินค้ามีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับสินค้าที่ขาย ให้เป็นตัวอย่างเพื่อทดลองชิมก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยส่งพนักงาน PC. ของบริษัทไปประจำตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า เทน้ำผลไม้ใส่แก้วขนาด 3-5 ซีซี ให้ผู้บริโภคหรือผู้ที่ต้องการจะซื้อสินค้าชิมโดยไม่คิดราคา |
แนววินิจฉัย | : 1. การขายน้ำผลไม้ที่คั้นจากผลไม้สดด้วยเครื่องคั้นน้ำผลไม้ หรือคั้นด้วยมือ โดยไม่มีการปรุงแต่งสี รสชาติ ไม่ใส่สารกันบูด และนำน้ำผลไม้ที่คั้นได้บรรจุขวดพลาสติกใส ปิดฝาเข้าลักษณะเป็นการขายน้ำผลไม้ น้ำจากพืชตาม 1 และ 2 เฉพาะที่ไม่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อที่ผนึกในลักษณะมั่นคง จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร 2. การแจกน้ำผลไม้เพื่อขายให้ผู้บริโภคหรือผู้ที่ต้องการจะซื้อชิมก่อนจะตัดสินใจซื้อโดยไม่คิดราคา เพื่อเป็นการแนะนำสินค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าน้ำผลไม้ที่แจกมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 70/34893 |