เลขที่หนังสือ | : กค 0706/5014 |
วันที่ | : 21 พฤษภาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างตกแต่งบูธ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ซ. จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่บูธจัดงานเพื่อส่งเสริมการขายของบริษัทฯ ณ อาคารไบเท็ค บางนา กับบริษัท R. (ผู้จัดงาน) ซึ่งเป็นงานแสดงเครื่องจักรกล ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอพแวร์ที่ใหญ่ที่สุดใน ASEAN ในการออกบูธจัดงานดังกล่าว บริษัทฯ ได้ตกลงให้ S. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ตกแต่งบูธจัดงานให้แก่บริษัทฯ โดย S.Ltd. จะเป็นผู้ออกแบบการจัดตกแต่งบูธจัดงานดังกล่าว ซึ่ง S.Ltd. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท U. ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์และไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ให้ตกแต่งบูธจัดงานดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ อีกทอดหนึ่ง และ U. ได้ส่งบุคลากรจากประเทศสิงคโปร์มาควบคุมการจัดตกแต่งบูธจัดงาน ส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างตกแต่งบูธจัดงาน S.Ltd. จะเป็นผู้จ่ายให้แก่ U. แล้วจึงเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากบริษัทฯ จึงขอทราบว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินคืนให้แก่ S.Ltd. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี S.Ltd. ทำสัญญาว่าจ้างโดยตรงกับ U. ให้ตกแต่งบูธจัดงานในประเทศไทยให้แก่บริษัทฯ โดย U. ได้ส่งบุคลากรเข้ามาควบคุมและตกแต่งบูธจัดงานนั้น การประกอบกิจการตกแต่งบูธดังกล่าว ถือได้ว่า S.Ltd. มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ S.Ltd. บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 อย่างไรก็ดี การส่งบุคลากรเข้ามาในประเทศไทยของ U. เพื่อให้บริการตกแต่งบูธจัดงาน ยังไม่ถือว่า S.Ltd. ให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้ S.Ltd. จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ-สิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2. การให้บริการของ S.Ltd. ตาม 1. เข้าลักษณะเป็นการบริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หาก S.Ltd. ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการตามสัญญาไปให้ S.Ltd. จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 70/34934 |