เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 112/2545

เรื่อง      การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำ เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นค่าบริการให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากค่าบริการที่ให้บริการ (Transaction) ในแต่ละครั้ง มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากค่าบริการในแต่ละครั้ง มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ

                        ค่าบริการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาวตามวรรคหนึ่ง หมายถึงค่าบริการที่คู่สัญญาสามารถคำนวณค่าบริการที่ได้รับทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ในการทำสัญญารายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ ตัวอย่างเช่น

                        (1) ค่าธรรมเนียมดาร์ฟ

                        (2) ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินทางโทรเลข ทางไปรษณีย์ และทางโทรศัพท์ หรือทางคอมพิวเตอร์

                        (3) ค่าธรรมเนียมในการออกตั๋วเงิน รับรองตั๋วเงิน ค้ำประกันตั๋วเงิน

                        (4) ค่าธรรมเนียมในการออกตั๋วเงินภายในประเทศ และตั๋วเงินในต่างประเทศ

                        (5) ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเลตเตอร์ออฟเครดิต

                        (6) ค่าธรรมเนียมในการคืนเช็ค

                        (7) ค่าธรรมเนียมในการตรวจสภาพหลักทรัพย์

                        (8) ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินต่างประเทศเข้าบัญชีผู้รับโอน

                        (9) ค่าธรรมเนียมเคาน์เตอร์เช็ค

                        (10) ค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินตามเช็ค

                        (11) ค่าธรรมเนียมเช็คของขวัญ

                        (12) ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันลูกค้า

                        (13) ค่าให้บริการใช้โทรศัพท์

                        (14) ค่าใช้คู่สายแต่ละครั้ง

                        (15) ค่าใช้จ่ายยกเลิกตั๋วเงิน

                        (16) ค่าธรรมเนียมจากการที่ลูกค้านำตั๋วแลกเงินจากต่างประเทศมาแลกกับธนาคาร

                        (17) ค่าบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ

                        (18) ค่าบริการจำหน่ายหลักทรัพย์

 

                ข้อ 2  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการ ตามข้อ 1 ให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งแต่ละสัญญา หรือรายการที่ให้บริการ (Transaction) ในแต่ละครั้งมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท หากการจ่ายเงินหลาย ๆ สัญญาดังกล่าว หรือหลาย ๆ รายการที่ให้บริการ (Transaction) รวมกันเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) ได้ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัท ข. จำกัด ประกอบด้วย ค่าใช้คู่สาย 700 บาท ค่าใช้จ่ายยกเลิกตั๋วเงิน 800 บาท ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินทางโทรเลข 1,900 บาท ค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเลตเตอร์ออฟเครดิต 1,400 บาท และค่าธรรมเนียมในการคืนเช็ค 200 บาท หากบริษัท ข. จำกัด จ่ายค่าบริการรวมทั้งสิ้น 5,000 บาท บริษัท ข. จำกัด มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการจำนวน 5,000 บาท

 

                ข้อ 3  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ได้ทำสัญญา รายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยมีการตกลงจ่ายค่าบริการตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้จะแบ่งจ่ายหลายครั้ง ครั้งละไม่ถึงหนึ่งพันบาท บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ ตัวอย่างเช่น บริษัท ข.จำกัด ทำสัญญาใช้ตู้นิรภัยของธนาคาร ก. จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยชำระค่าบริการเป็นรายเดือนเดือนละ 900 บาท กรณีดังกล่าว แม้ว่าบริษัท ข. จำกัด จะชำระค่าบริการในเดือนหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาทก็ตาม แต่โดยที่สัญญาให้บริการมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการตลอดอายุสัญญาแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ดังนั้น เมื่อบริษัท ข. จำกัด ชำระค่าบริการเดือนละ 900 บาท บริษัท ข. จำกัด มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการจำนวน 900 บาท

 

                ข้อ 4  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นค่าบริการให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากการจ่ายค่าบริการไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการในครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ โดยจะต้องนำเงินค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อน ๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย

                        ค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาวตามวรรคหนึ่ง หมายถึงค่าบริการที่คู่สัญญาไม่สามารถคำนวณค่าบริการที่ได้รับทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ในการทำสัญญารายหนึ่ง ๆ หรือครั้งหนึ่ง ๆ ตัวอย่างเช่น

                        (1) ค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรเอทีเอ็ม

                        (2) ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกระแสรายวัน

                        (3) ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีกระแสรายวัน

                        (4) ค่าธรรมเนียมบริการชำระค่าโทรศัพท์

                        (5) ค่าคู่สายที่ใช้ในการออนไลน์บัตรเอทีเอ็มระหว่างจังหวัด

                        (6) ค่าคู่สายที่ใช้ในการออนไลน์บัตรเอทีเอ็มที่เรียกเก็บจากธนาคารอื่น

                        (7) ค่าธรรมเนียมรักษาสภาพบัญชี

                        (8) ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต

                        (9) ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเดือนของพนักงานเข้าบัญชีธนาคารของพนักงาน

                        (10) ค่าธรรมเนียมการให้บริการโอนเงินรายย่อยทางอิเล็กทรอนิกส์ (Media Clearing)

                        (11) ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการผ่านระบบ BAHTNET

 

                ข้อ 5  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการ ตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

                        กรณีการจ่ายค่าบริการผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องระบุวัน เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้ เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน

                        กรณีมีการจ่ายค่าบริการตามวรรคหนึ่งในแต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายคราว ทำให้ผู้จ่ายเงินไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่าง ๆ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยสามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หนึ่งครั้งต่อเดือน แต่ผู้จ่ายเงินยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

 

                ข้อ 6  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบริการ ตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน และผู้จ่ายเงินมีความประสงค์แต่งตั้งให้ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน

                        ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามวรรคหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการได้ ซึ่งธนาคารหรือบริษัทในฐานะเป็นตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน โดยให้ดำเนินการตามข้อ 7

 

                ข้อ 7  กรณีธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามข้อ 6 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า ธนาคารหรือบริษัทผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแทน ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้งดังกล่าวเป็นข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่งตั้งให้ธนาคารหรือบริษัทเป็นตัวแทนแล้ว

                        กรณีธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามข้อ 6 ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้จ่ายเงินไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้ธนาคารหรือบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ทั้งนี้ ธนาคารหรือบริษัทต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และเมื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ธนาคารหรือบริษัทจะต้องระบุข้อความเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีของค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ โดยมีสาระสำคัญว่า ธนาคารหรือบริษัทได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เป็นจำนวนเงิน … บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งธนาคารหรือบริษัทจะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                        รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามวรรคสอง สามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                        (1) คำว่า“รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน…พ.ศ. ….” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                        (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของธนาคารหรือบริษัทผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”

                        (3) ประเภทเงินได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต หรือค่าธรรมเนียมในการโอนเงินทางโทรเลข

                        (4) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นตัวการหลายตัวการ จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หักไว้

                        (5) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

 

                ข้อ 8  กรณีธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามข้อ 6 ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ ธนาคารหรือบริษัทจะต้องระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ธนาคารหรือบริษัทในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 วรรคสามด้วย ซึ่งเอกสารรายละเอียดดังกล่าวถือเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 โดยธนาคารหรือบริษัทจะต้องเขียนข้อความว่า “ ใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ” ไว้ในเอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตาม

                        กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามวรรคหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้เอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 วรรคสาม เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

 

                ข้อ 9  ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามข้อ 6 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้

 

สั่ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022