เลขที่หนังสือ | :กค 0706/5686 |
วันที่ | :8 มิถุนายน 2550 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีผิด |
ข้อกฎหมาย | :ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 72)ฯ ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 |
ข้อหารือ | : กรณีการยื่นแบบแสดงรายการโดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีผิด ราย บริษัท ส. ซึ่งมีข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา ดังนี้ 1. บริษัท ส. เป็นนิติบุคคลไทย ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทย บริษัทฯ ได้ยื่นขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2 เลข สำหรับกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 และสำหรับกิจการเดินเรือในประเทศ และกิจการทั่วไป ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของแต่ละปี ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ไม่มีรายได้จากการขนส่งสินค้าในประเทศเลย บริษัทฯ มียอดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 21,587.21 บาท ซึ่งเป็นยอดภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายโดยนิติบุคคลในประเทศที่ได้ว่าจ้างให้บริษัทฯ ทำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยนิติบุคคลดังกล่าวได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและออกหนังสือรับรองให้บริษัทฯ โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีหมายเลขผิด ซึ่งเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของกิจการของบริษัทฯ ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3. บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ของปี 2548 ของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี โดยในแบบ ภ.ง.ด. 50 ของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 21,587.21 บาท ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้ระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 15 จึงแจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ผิด 4. บริษัทฯ หารือว่า กรณีบริษัทฯ มีรายได้รวมกันทั้งกิจการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีรายได้จากกิจการขนส่งภายในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะแยกรายจ่ายอย่างไร เช่น ค่าซ่อมเรือซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการซ่อมของกิจการใด เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าซ่อมเรือ บริษัทฯ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ให้บริการซ่อมเรือ ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดเวลานำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. 3 หรือ แบบ ภ.ง.ด. 53 บริษัทฯ จะนำส่งด้วยเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเลขใด ถ้าบริษัทฯ ใช้วิธีเฉลี่ยด้วยฐานอะไร จะเฉลี่ยด้วยฐานรายได้ของปีที่ผ่านมาเหมือนกับการเฉลี่ยภาษีซื้อ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคล ประกอบกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิคติบุคคล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวพร้อมทั้งบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ตลอดจนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 และ ภ.ง.ด. 51 สำหรับการประกอบกิจการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศแยกต่างหากจากการประกอบกิจการประเภทอื่น ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.69/2541 เรื่อง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล และการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2541 กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากกิจการการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี จึงได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ไม่มีรายรับส่วนกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 โดยขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 21,587.21 บาท ซึ่งผู้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเป็นของประเภทกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ แต่เนื่องจากเป็นนิติบุคคลเดียวกัน อีกทั้งบริษัทฯ ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ไม่ถูกต้อง โดยทั้งหมดมีเพียงจำนวน 7 ราย ดังนั้น จึงเห็นควรอนุโลมให้ถือว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกิจการประเภทที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากร สามารถนำมาใช้ในการขอคืนภาษี สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ของประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2. บริษัทฯ มีรายจ่ายรวมของกิจการทั้งสองประเภทที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นรายจ่ายของกิจการใด บริษัทฯ ต้องนำรายจ่ายมาเฉลี่ยตามส่วนของรายได้ของกิจการ ทั้งนี้ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 72) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 |
เลขตู้ | : 70/34997 |