เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 102/2544

เรื่อง      การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำ ผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการ สำหรับการเสียภาษีเงินได้และ ภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่ จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                “ข้อ 1  คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น

 

                        นักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอน นักกีฬาหรือบุคคลผู้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกัน”

(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2546)

                        คำว่า "ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ" หมายความว่า ผู้ดำเนินการเพื่อ จัดให้มีการแสดงหรือแข่งขันของนักแสดงสาธารณะในประเทศไทย

                        คำว่า "คู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง" หมายความว่า ผู้ดำเนินการ ติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ

                        คำว่า "แสดงเป็นหมู่หรือคณะหรือแข่งขันเป็นทีม" หมายถึง การแสดงหรือการแข่งขันที่ ผู้ว่าจ้างได้ตกลงว่าจ้างให้แสดงเป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม

                        คำว่า "เงินได้ของนักแสดงสาธารณะ" หมายความว่า เงินได้พึงประเมินหรือ ค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพนักแสดงสาธารณะตามวรรค หนึ่ง รวมถึงรางวัลและประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการแสดงหรือการแข่งขัน เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่า เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่แสดงหรือแข่งขัน จ่ายเป็นการเหมา หรือจ่ายในลักษณะ อื่นทำนองเดียวกัน

 

                ข้อ 2  การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของนักแสดงสาธารณะ ให้นำเงินได้ ของนักแสดงสาธารณะซึ่งเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีนักแสดงสาธารณะที่แสดงเป็น หมู่หรือคณะหรือแข่งขันเป็นทีมให้นำ เงินได้ของนักแสดงสาธารณะอันเกิดจากการ แสดงหรือแข่งขันที่ได้รับทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับในนามของหมู่หรือคณะ หรือทีม หรือได้รับแยกเป็นรายบุคคล มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคล โดยให้ผู้จัดการคณะบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่และ ความรับผิดชอบในการยื่นรายการและชำระภาษี ในชื่อของคณะ บุคคลภายในกำหนดเวลาและตามแบบแสดง รายการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ นักแสดงสาธารณะแต่ละคนไม่ต้อง ยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึง ประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเป็นราย บุคคลอีก แต่ถ้า คณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระให้ นักแสดงสาธารณะทุกคนในหมู่หรือคณะ หรือทีมร่วมรับผิดใน เงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย

                        กรณีผู้ว่าจ้างได้ตกลงว่าจ้าง นักแสดงสาธารณะเป็นรายบุคคลให้แสดงเป็น หมู่หรือคณะหรือแข่งขันเป็นทีม ให้นักแสดงสาธารณะแต่ละคนนำเงิน ได้ของนักแสดงสาธารณะที่ได้รับมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของแต่ละคน

                        นักแสดงสาธารณะตามวรรคสองและวรรคสามมีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

                           (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไป ยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.94

                           (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม ไปยื่นรายการและชำระภาษีภายใน เดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ชำระไว้ตาม (1) มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี

 

                ข้อ 3  ในการเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาของนักแสดงสาธารณะตามข้อ 2 ให้คำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอม ให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ดังนี้

                        (1) หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือ

                        (2) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังนี้

                                 (ก) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60

                                 (ข) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ของ นักแสดงสาธารณะ ถ้าความเป็น สามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดใน การยื่นรายการและเสียภาษี โดยให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้ จ่ายตามเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

                                 ตัวอย่าง

                                 นาย ก และนาง ข เป็นนักแสดงภาพยนตร์และเป็นสามีภริยากัน ในปีภาษีที่ล่วง มาแล้วต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ โดยนาย ก มีเงินได้พึงประเมิน 2,000,000 บาท และนาง ข มีเงินได้พึงประเมิน 500,000 บาท ดังนั้น นาย ก จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการยื่นรายการและชำระภาษี ในนามของนาย ก โดยนำเงินได้ของนาง ข มารวมคำนวณภาษีด้วย และหากเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้

                                   - เงินได้ของนาย ก หักค่าใช้จ่ายได้จำนวน 600,000 บาท

                                   - เงินได้ของนาง ข หักค่าใช้จ่ายได้จำนวน 260,000 บาท

                                   รวมค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาที่มีสิทธิหักได้ 860,000 บาท

 

                ข้อ 4   ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ นักแสดงสาธารณะตามข้อ 2 ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีนักแสดงสาธารณะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักค่าลดหย่อน คู่สมรสและหรือบุตรได้ ไม่ว่าคู่สมรสและบุตรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย หรือไม่

                        กรณีนักแสดงสาธารณะไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จะคำนวณหักค่า ลดหย่อนคู่สมรสและหรือบุตรได้ เฉพาะคู่สมรสและบุตรที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

 

                ข้อ 5  นักแสดงสาธารณะที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ และเข้ามาแสดงหรือแข่ง ขันในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ทั้งนี้ ไม่ว่าการจ่ายเงิน ได้ดังกล่าวจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

                        นักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่งมี หน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นราย การและชำระภาษี โดยปฏิบัติตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4

                        กรณีนักแสดงสาธารณะมีถิ่นที่อยู่ ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการ เว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

 

                ข้อ 6  คนต่างด้าวที่มีเงินได้พึงประเมินจากการเป็น นักแสดงสาธารณะในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เพื่อขอรับใบผ่านภาษีอากรภายในกำหนดเวลา ไม่เกินสิบ ห้าวันก่อนออกเดินทาง ไม่ว่ามีเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ หรือไม่ตามมาตรา 4 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 7  การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้ผู้จ่ายเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในเจ็ด วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ ดังนี้

                        (1) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับรายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้ที่จ่าย เว้นแต่การจ่ายเงินได้ของนักแสดงสาธารณะที่ได้ จากการประกวดหรือแข่งขันให้คำนวณหัก ตามอัตราภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 9(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ดังนี้

                                 (ก) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5.0

                                 (ข) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณหักภาษีไว้ตามอัตราที่ กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

                ข้อ 8  การเสียภาษีเงินได้ของผู้จัดให้มีการแสดง ของนักแสดงสาธารณะในประเทศไทย และการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้จัดให้ มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะให้ปฏิบัติ ดังนี้

                        (1) กรณีผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดง สาธารณะเป็นผู้มีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการจัดให้มี การแสดงของนักแสดงสาธารณะซึ่งเป็นเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง หรือเงินอื่นใดที่ได้จากการ จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

                           การจ่ายค่าจ้างในการจัดให้มีการ แสดงให้แก่ผู้จัดให้มีการแสดงของ นักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้

                                 (ก) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ถ้าการจ่ายมีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร

                                 (ข) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

                        (2) กรณีผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในประเทศไทย มีหน้าที่ นำรายได้จากการประกอบกิจการมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                           การจ่ายค่าจ้างในการจัดให้มีการ แสดงให้แก่ผู้จัดให้มีการแสดงของ นักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้

                                 (ก) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาลสุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                                 (ข) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ให้แก่ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ ที่เป็นบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่รวมถึงมูลนิธิ หรือสมาคม หรือที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ คำนวณหักภาษี ณ จ่ายนำส่งในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 8(2) และ (3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

                                 (ค) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่ง เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้จัดให้มีการ แสดงของนักแสดงสาธารณะที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ของต่างประเทศประกอบ กิจการในประเทศไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้ง อยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหัก ภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 12 ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528

                              กรณีผู้จัดให้มีการแสดงของนัก แสดงสาธารณะมีถิ่นที่อยู่ใน ประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการ เว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

 

                ข้อ 9  การเสียภาษีเงินได้ของคู่สัญญาที่จัด หานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย และการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ คู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงให้ปฏิบัติ ดังนี้

                        (1) กรณีคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องนำเงินได้ที่ได้รับเฉพาะจากการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

                           การจ่ายค่าจัดหานักแสดงสาธารณะให้แก่ คู่สัญญาที่จัดหานักแสดง สาธารณะมาแสดงตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) กรณีคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทยเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย ต้องนำรายได้ที่ได้จากการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันดังกล่าว มารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

                           การจ่ายค่าจัดหานักแสดงสาธารณะให้ แก่คู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้

                                 (ก) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

                                 (ข) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ไม่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง

                        (3) กรณีคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทยเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ที่ได้รับจากการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าตอบแทนในการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะเท่านั้น หากได้รับเป็นเงินก้อนซึ่งรวมเงินได้ของนักแสดงสาธารณะอยู่ด้วยให้หักเงินได้ของนักแสดงสาธารณะนั้นออกก่อน โดยให้ผู้จ่ายเงินได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หักภาษีนำส่งจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

                              กรณีคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะ มาแสดงมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

 

                ข้อ 10  การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของ นักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง

                        (1) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่า เพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฒ) แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) การจัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเป็นค่าเข้าชมการแสดง หรือค่าตอบแทนอื่นในลักษณะเดียวกัน เว้นแต่เป็นการจัดการแสดงเพื่อการ กุศลสาธารณะหรือการแข่งขันกีฬาสมัครเล่น ตามมาตรา 81(1)(ฑ) และ (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร

                           การจัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ ตามวรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการ ให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมใน สาขานาฏศิลป์ สาขาดุริยางคศิลป์และสาขาคีตศิลป์ ซึ่งผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะมิได้เรียกเก็บค่าบริการโดย ตรงจากผู้ชมหรือผู้ฟัง แต่ไม่รวมถึงการให้บริการโดยกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากรและ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 11) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการให้บริการที่ เป็นงานทางศิลปะและ วัฒนธรรมตามมาตรา 81(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534

                        (3) การติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง หรือแข่งขันในประเทศไทยของ คู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูล ค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                        (4) การจ่ายค่าบริการตาม (2) และ (3) ให้แก่ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่า เพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

                                 (ก) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดง สาธารณะในประเทศไทย หรือคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมา แสดงหรือแข่งขันในประเทศไทยที่ได้เข้ามา ดำเนินการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะในราช อาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว

                                 (ข) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นคู่สัญญาที่จัดหา นักแสดงสาธารณะมา แสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะในต่างประเทศ

 

                ข้อ 11  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ ขัดแย้งหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

 

                ข้อ 12  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินให้ แก่นักแสดงสาธารณะตั้งแต่วัน ที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2544

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-10-2024