เมนูปิด

เลขที่หนังสือ:กค 0706/5694
วันที่:8 มิถุนายน 2550
เรื่อง:ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีนำผลขาดทุนจากเงินลงทุนมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 65 ตรี (12)(13) และมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัท ก. จำกัด ประกอบธุรกิจศูนย์การค้า เมื่อปี 2537 บริษัทฯ ลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท ข. จำกัด (ข. ) เป็นจำนวน 99,993 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท เพื่อให้ ข. ทำหน้าที่บริหารศูนย์การค้าให้กับบริษัทฯ เช่น จัดให้บริการในด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าผู้เช่าที่ประกอบธุรกิจในศูนย์การค้า และประชาชนผู้มาใช้บริการ พร้อมทั้งเก็บเงินประกันสัญญาให้บริการภายในอาคารจากลูกค้าผู้เช่าให้แก่บริษัทฯ เป็นต้น โดย ข. มีรายได้จากค่าบริหารส่วนหนึ่งและค่าบริการจากส่วนกลางอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ถึง 2541 ข. ได้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 และไม่สามารถนำเงินประกันสัญญาบริการของลูกค้าผู้เช่า จำนวน 8.3 ล้านบาท ส่งคืนแก่บริษัทฯ ซึ่งเมื่อรวมเงินประกันสัญญาบริการของลูกค้าผู้เช่า กับดอกเบี้ยของเงินประกันสัญญาบริการของลูกค้าตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2547 ทำให้ ข. มีหนี้สินค้างชำระกับบริษัทฯ เป็นจำนวน 11.87 ล้านบาท และเพื่อให้ ข. มีเงินชำระหนี้กับบริษัทฯ เมื่อ ข. ได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนในหุ้นสามัญ ข. ได้เสนอขายหุ้นสามัญให้กับบริษัทฯ จำนวน 113,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท ในวันที่ 30 สิงหาคม 2547 บริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นดังกล่าว และได้ขายหุ้น ข. จำนวน 212,993 หุ้น (หุ้นเดิมจำนวน 99,993 + หุ้นใหม่จำนวน 113,000 = 212,993 หุ้น) ราคาหุ้นละ 0.07 สตางค์ เป็นจำนวนเงิน 149,000 บาท ให้แก่บริษัท ป. จำกัด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547
        บริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ สามารถนำผลขาดทุนจากเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:        1. บริษัทฯ ลงทุนซื้อหุ้นสามัญจาก ข. ครั้งแรกเมื่อปี 2537 จำนวน 99,993 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท ให้ ข. ทำหน้าที่บริหารศูนย์การค้าให้กับบริษัทฯ จึงเป็นการลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ และหุ้นจำนวนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขายหุ้นให้บริษัท ป. จำกัด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ในราคา หุ้นละ 0.07 สตางค์ (ซื้อมาราคาหุ้นละ 100 บาท) และเกิดผลขาดทุน กรณีย่อมถือได้ว่า ผลขาดทุน ดังกล่าวเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุน ที่เกิดจากการขายหุ้นดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ใน รอบระยะเวลาบัญชีที่ผลขาดทุนดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12)และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากราคาหุ้นที่ขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาหุ้น ตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. ข. ได้หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ต่อมา ข. ได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนในหุ้นสามัญและเสนอขายให้กับบริษัทฯ บริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นดังกล่าวไว้จำนวน 113,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 โดยบริษัทฯ อ้างว่าเพราะ ข. มีหนี้สินค้างชำระกับบริษัทฯ จำนวน 11.87 ล้านบาท และไม่สามารถหาเงินมาชำระกับบริษัทฯ ได้ บริษัทฯ จึงซื้อหุ้นดังกล่าว เพื่อให้ ข. มีเงินชำระหนี้กับบริษัทฯ แต่บริษัทฯ ได้ขายหุ้นดังกล่าวไปในคราวเดียวกับหุ้นที่ซื้อครั้งแรก ในราคาหุ้นละ 0.07 สตางค์ ให้แก่บริษัท ป. จำกัด กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทฯ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะซื้อหุ้นของ ข. เพื่อลงทุนหาผลประโยชน์จากการดำเนินกิจการของ ข. แต่ต้องการนำผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ กรณีจึงไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อหากำไรโดยเฉพาะ ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35004

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020