เลขที่หนังสือ | : กค 0706/5527 |
วันที่ | : 4 มิถุนายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศขายหุ้นในบริษัทไทย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(4)(ช) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ก. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นประสงค์จะขายหุ้นบริษัท ก. ให้แก่บริษัท ข. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในการขายหุ้นดังกล่าว บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะมีภาระภาษีอย่างไร |
แนววินิจฉัย | : "การซื้อขายหลักทรัพย์ที่กระทำเป็นปกติในธุรกิจการค้า โดยบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งกระทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ โดยในกรณีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เข้ามาลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย กำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว อาจเป็นกำไรจากอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ตามอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ซึ่งรัฐบาลไทยตกลงไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ โดย ก. บริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ (Security Dealings License) หรือ ข. บริษัทดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ (Security Dealings License) แต่มีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับธุรกิจการเงินโดยเฉพาะ (Specific Financial Law) ที่ระบุอย่างชัดแจ้งให้บริษัทดังกล่าวมีอำนาจทำการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นกิจการหลักของบริษัทได้ โดยไม่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ (Security Dealings License) กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ก.หรือ ข.กำไรจากการขายหลักทรัพย์ของบริษัท ถือเป็นผลได้จากทุน (Capital Gains) ดังนั้น ในกรณี บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้นในประเทศไทย จึงอาจพิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีเป็นกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นกำไรจากธุรกิจ กรณีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นกำไรจากอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์แล้ว บริษัทญี่ปุ่นดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อบริษัทดังกล่าวซื้อขายหลักทรัพย์โดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ตามมาตรา 66 วรรคสองและมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อย่างไรก็ดี หากบริษัทญี่ปุ่นดังกล่าวไม่มีสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย บริษัทดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2. กรณีเป็นกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นผลได้จากทุน เมื่อบริษัท ข. ผู้จ่ายเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น โดยการขายหุ้นดังกล่าวมีผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 13 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น บริษัท ข. ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร" |
เลขตู้ | : 70/34969 |