เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6370
วันที่: 28 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีออกใบกำกับภาษีจากการจำหน่ายบัตรอัตโนมัต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 87 มาตรา 87(1) และ (2) และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       การทางฯ มีวัตถุประสงค์ ในการจัดสร้างทางพิเศษเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมรวม 5 เส้นทาง มีสถานประกอบการเพียงแห่งเดียวเป็นสำนักงานใหญ่ คือ สำนักงานการทางฯ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยใช้ที่อยู่สำนักงานใหญ่ เป็นสถานประกอบการ
        การทางฯ จะเปิดให้บริการทางพิเศษเพิ่มเติมสายที่ 6 โดยจะใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง โดยใช้บัตรอัตโนมัติ (TAG) การจำหน่ายบัตรฯ ที่สำนักงานใหญ่ การทางฯ และด่านเก็บค่าผ่านทางสายที่ 6 แต่ละแห่ง มีการรับบัตรฯ ชำระเงินค่าบัตรฯ วางเงินค่ามัดจำบัตรฯ จัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้แก่ผู้ใช้บริการทันที่ที่จุดจำหน่ายบัตรฯ โดยผู้ใช้บริการกรอกแบบฟอร์มการขอใบกำกับภาษี ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะใช้อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหรือช่องทางขาเข้าด่านในการออกหลักฐานการทางฯ จึงขอทราบว่า
        1. การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินค่าบัตร ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี ต้องได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรหรือไม่
        2. ด่านเก็บเงินซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ออกใบกำกับภาษี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสถานประกอบการด้วยหรือไม่
        3. การจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย ต้องจัดทำที่ด่านเก็บค่าผ่านทางหรือไม่ และเลขที่ใบกำกับภาษีต้องเรียงกันกับที่สำนักงานใหญ่ หรือต้องเรียงกันในระหว่างด่านเก็บค่าผ่านทางหรือไม่
แนววินิจฉัย:         1. กรณี การทางฯ ได้ให้บริการใช้ทางพิเศษ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ การทางฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ กรณีที่มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก็ให้ถือว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ การทางฯ ได้รับชำระค่าบริการเป็นค่าผ่านทางล่วงหน้าก่อนที่ผู้ซื้อบัตร จะใช้บริการทางพิเศษ จึงถือได้ว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ
        สำหรับกรณี การทางฯ มีความประสงค์ออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน แยกพิจารณาได้ ดังนี้
                (1) กรณีออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและอย่างย่อ ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร กทพ.ต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 2 ข้อ 7 และข้อ 8 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536
                (2) กรณีออกใบเสร็จรับเงินนั้น หากใบกำกับภาษีที่ การทางฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน โดยมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร มีข้อความว่า ได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือใบกำกับภาษีนั้น เป็นใบรับก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 105 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณี การทางฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการประเภทให้บริการค่าผ่านทาง มีสถานประกอบการเพียงแห่งเดียวเป็นสำนักงานใหญ่ตั้ง เมื่อ การทางฯ เป็นผู้ดำเนินกิจการทางพิเศษสายที่ 6 เพิ่มเติม ค่าผ่านทางทั้งหมดที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้ การทางฯ ที่จุดขายทางพิเศษสายที่ 6 เข้าลักษณะเป็นค่าบริการ การทางพิเศษ ก.มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากด่านเก็บค่าผ่านทางสายที่ 6 แต่ละด่าน เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ใช้บริการผ่านเข้าไปเพื่อใช้บริการทางพิเศษสายที่ 6 ดังนั้น ด่านแต่ละด่าน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ การทางฯ ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(20) และมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายที่ด่านเก็บค่าผ่านทางเนื่องจากด่านเก็บค่าผ่านทางสายที่ 6 แต่ละด่าน ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ด่านเก็บค่าผ่านทางจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเป็นรายสถานประกอบการตามมาตรา 87 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
        กรณีเลขที่ใบกำกับภาษีที่ออกโดยด่านเก็บค่าผ่านทางและสำนักงานใหญ่ เนื่องจาก การทางฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการทุกครั้งที่มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แม้เลขที่ใบกำกับภาษีที่ออกโดยด่านเก็บค่าผ่านแต่ละด่านทาง และสำนักงานใหญ่จะไม่เรียงกัน การทางฯ สามารถกระทำได้
เลขตู้: 70/35078

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020