เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6324
วันที่: 27 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออกใบรับเงินหรือใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 มาตรา 85/7 มาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:      บริษัทฯ มีความประสงค์ให้บริการรับชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการต่าง ๆ แทนลูกค้าในนามบริษัทฯ เช่น บริษัทที่ประกอบกิจการประกันภัยแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนในการรับชำระค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น ในการให้บริการ บริษัทฯ จะมีระบบควบคุมอยู่ที่ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของบริษัทฯ ซึ่งระบบดังกล่าวประกอบด้วย ระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และระบบการให้บริการ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ต่อไป ในอนาคตบริษัทฯ จะขยายการให้บริการ โดยจะติดตั้งเครื่องบริการ พร้อมทั้งมีผู้ได้รับอนุญาตดูแล และทำหน้าที่คีย์ (Input) ข้อมูลต่าง ๆ จากลูกค้าเข้าไปที่เครื่องบริการ เพื่อส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังระบบส่วนกลางของบริษัทฯ จากนั้นระบบส่วนกลางจะทำการประมวลผลข้อมูล เพื่อออกใบรับเงินหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อหรือเต็มรูปแบบในนามของบริษัทฯ แล้วออกคำสั่งพิมพ์ไปยังเครื่องบริการนั้น ๆ ผู้ได้รับอนุญาตดูแลจะส่งมอบใบรับเงินหรือใบกำกับภาษีฯ ให้กับลูกค้าที่มาชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ โดยผู้ได้รับอนุญาตดูแลไม่ได้รับค่าจ้างประจำจากบริษัทฯ แต่จะได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณใบเสร็จที่ผู้ได้รับอนุญาตดูแลรับชำระเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าใบเสร็จละ 5 บาท ค่าตอบแทนดังกล่าวจะรวมจ่ายเป็นรายเดือน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. กรณีบริษัทฯ จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของบริษัทฯ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกับเครื่องบริการเพื่อออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเต็มรูปในนามของบริษัทฯ และใช้ที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเต็มรูป เพื่อให้บริการรับชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยมิต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากรก่อน ใช่หรือไม่
        2. กรณีการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก บริษัทฯ จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพื่อออกใบรับเงินและใบกำกับภาษีอย่างย่อในนามของบริษัทฯ (ใช้ชื่อและที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ) เพื่อให้บริการรับชำระค่าสินค้า และค่าบริการต่าง ๆ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยมิต้องได้รับอนุญาตกรมสรรพากรก่อน ใช่หรือไม่
        3. กรณีบริษัทฯ ขยายการบริการไปตามจุดต่าง ๆ
                3.1 เครื่องให้บริการฯ ของบริษัทฯ ตามจุดต่าง ๆ เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ หรือไม่
                3.2 บริษัทฯ สามารถใช้เครื่องบริการ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยออกใบรับเงินและใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ ได้ทันทีโดยมิต้องขออนุญาตจากกรมสรรพากร ใช่หรือไม่
                3.3 การออกใบรับเงินและใบกำกับภาษีทั้งอย่างย่อและเต็มรูป ซึ่งถูกสั่งพิมพ์จากระบบส่วนกลางของบริษัทฯ ถือว่า สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เป็นผู้จัดทำใบรับเงินและใบกำกับภาษี ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย:         1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร มีความประสงค์จะตั้งบริษัทฯ เป็นตัวแทนในการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีแทนตนเอง ย่อมสามารถกระทำได้ แต่ใบกำกับภาษีที่จะออกโดยตัวแทน ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรือเป็นใบกำกับภาษีที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4 หรือตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และกำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538
        อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อในนามของบริษัทฯ และใช้ที่อยู่ของบริษัทฯ ในใบกำกับภาษีทั้งสองประเภท โดยมิได้อ้างถึงรายละเอียดของผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการที่บริษัทฯ รับชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนแต่อย่างใด
        ดังนั้น การออกใบกำกับภาษีทั้งสองชนิด จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
        2. กรณีที่บริษัทฯ ขยายจุดบริการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการเพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศตาม 3. นั้น แม้ในแต่ละจุดบริการ ผู้ได้รับอนุญาตดูแลเครื่องบริการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมต่อกับระบบส่วนกลางของบริษัทฯ โดยคำสั่งในการพิมพ์ใบกำกับภาษีหรือใบรับเงินจะถูกส่งมาจากระบบส่วนกลางก็ตาม แต่โดยที่การให้บริการของผู้ได้รับอนุญาตดูแล เป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางของบริษัทฯ ในการให้บริการในนามของบริษัทฯ เป็นประจำ ดังนั้น การให้บริการของผู้ได้รับอนุญาตดูแล ย่อมเข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งการเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(20) และมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35070

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020